|
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย พบโรคนี้ตลอดปี แนวโน้มเพิ่มสูงในหน้าร้อน ปี 2553 พบผู้ป่วยทั้งหมด 14 ราย เสียชีวิตทุกราย ร้อยละ 95 ของผู้เสียชีวิต เกิดจากถูกสุนัขบ้ากัด ในปีนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย โรคนี้ ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก หลังจากที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีระยะฟักตัวและปรากฏอาการประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน บางรายอาจจะเร็วเพียง 4 วัน หรืออาจนานเกิน 1 ปี อาการจะปรากฏช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป ( หากถูกกัดบาดแผลใหญ่ ลึก เชื้อจะเข้าไปได้มาก) และตำแหน่งที่เชื้อเข้า ถ้ามีปลายประสาทมากจะอันตราย เพราะเชื้อมีโอกาสเข้าสู่ระบบประสาท ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อจะเดินทางไปถึงสมองได้เร็ว เพราะระยะฟักตัวจะสั้น
นายแพทย์ภาสกรไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะแสดงอาการ 2 แบบ คือแบบดุร้าย นิสัยของสัตว์ผิดไปจากเดิม ตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ไวต่อแสงและเสียง ต่อมาเป็นอัมพาต หลังแข็ง หางตก ลิ้นห้อย กลืนไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ชักและตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ และแบบซึม บางตัวมีอาการคล้ายมีก้าง กระดูกติดคอ ทำให้เจ้าของเข้าใจผิดและเอามือไปล้วงที่ปาก
วิธีป้องกันที่ดี ก็คือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปีละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2-4 เดือน ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสด เช่น โพรวิโดนไอโอดีน และรีบไปพบแพทย์ โดยเร็ว
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
14 มีนาคม 2554
สุจิตรา ปัญญาดิลก/ข่าว
|
|
|