สาธารณสุขร้อยเอ็ด พิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ณ ห้องประชุม 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดประชุมและทำการคักเลือกคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับจังหวัดร้อยเอ็ดชุดใหม่ ซึ่งได้หมดวาระลงเมื่อครบกำหนด 2 ปี โดยมีนายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานหลักระกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานดำเนินการประชุมในครั้งนี้
คณะอนุกรรมการชุดใหม่ ประกอบด้วย นายพูนศักดิ์ ปิยมาตย์ เป็นประธานอนุกรรมการ และมีอนุกรรมการ 6 คน ได้แก่ นายแพทย์ปิยพงศ์ รัตนอาภา นายแพทย์ศักดา เพียรประเสริฐกุล นายเสถียรอาจ ประเสริฐสังข์ นางสาวสุพิทยา สังฆะพิลา นายทองพูน อุดมพร และนางเลิศลักษณ์ นามไพร
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ กล่าวถึง บทบาทหน้าที่สำคัญของคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระดับจังหวัด คือ ร่วมพิจารณาขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้มีสิทธิบัตรทองหรือทายาทสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือได้ โดยอาจใช้แบบคำร้องที่กำหนดไว้ หรือใช้การเขียนเป็นหนังสือก็ได้
ทั้งนี้ ต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ชื่อผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย
2.ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล
3.ชื่อของหน่วยบริการที่ให้การรักษาพยาบาล
4.วันที่เข้ารับการรักษาพยาบาลหรือวันที่ทราบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น
5.สถานที่ที่สามารถติดต่อผู้รับบริการได้โดยเร็ว
6.สถานภาพของผู้รับบริการ เช่น อาชีพ รายได้ เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือผลกระทบอื่นๆที่ได้รับ
7.ต้องยื่นหลักฐานประกอบคำร้องทุกครั้ง ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือมอบอำนาจ(กรณีมีการมอบอำนาจ) และเอกสารหรือหลักฐานแสดงรายละเอียดข้อมูลอื่นที่อาจเป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา
ส่วนวิธีการยื่นคำร้อง มีดังนี้
1.ผู้ได้รับความเสียหายหรือทายาท สามารถยื่นเรื่องได้ภายใน 1 ปี นับจากที่ทราบว่าได้รับความเสียหาย โดยติดต่อยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
2.คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 30 วัน
3.หากผู้รับบริการไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ สามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งอยู่ที่ส่วนกลางได้ภายใน 30 วันหลังจากทราบผล.
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพและข่าว |