กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการยกระดับสถานีอนามัยเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ( รพ.สต.) โดยส่งเสริมให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วม ในการพัฒนาให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีศักยภาพดียิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน จนสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หัวใจ 4 ดวงที่เป็นกำลังสำคัญในการที่จะสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขของประเทศ คือ
1.ยกระดับสถานีอนามัย เป็น รพ.สต.โดยมีคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลประกอบด้วยบุคคลในท้องถิ่น
2.อสม.จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนการรักษาโรคที่รักษาได้ในชุมชน ฟื้นฟูสภาพ คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไปพร้อมๆ กับการพัฒนาระบบสาธารณสุข
3.แผนสุขภาพระดับตำบล/เทศบาล คนในชุมชนจะต้องเป็นผู้กำหนดปัญหาและช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยคนในชุมชนเอง
4.กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือกองทุนสุขภาพชุมชน โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพ จัดสรรให้ตามรายหัวประชากร โดยตำบลหรือเทศบาล ให้การสมทบตาม***ส่วนที่กำหนด
กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศรวม 9,770 แห่ง ในปี 2553 จำนวน 2,000 แห่ง และ ในปี 2554 ยกระดับจำนวนสถานีอนามัยที่เหลืออีก 7,770 แห่ง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.) ได้จัดเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนการยกระดับสถานีอนามัย จำนวนถึง 1,640 ล้านบาท รวมทั้ง เงินกองทุนสุขภาพชุมชน 40บาท/ประชากร ที่จัดสรรให้กับ อบต./เทศบาล ที่เข้าร่วมการจัดตั้ง กองทุนสุขภาพชุมชน
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ เท่าเทียม และได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการดูแลสุขภาพและดูแลตนเอง เมื่อเจ็บป่วยได้อย่างสมดุลร่วมพัฒนาเป็นระบบสุขภาพชุมชน ที่ครอบคลุมถึง การกินดีอยู่ดี อยู่เย็นเป็นสุข มั่นคงในชีวิต อย่างยั่งยืน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
17 พฤศจิกายน 2553
สุจิตรา ปัญญาดิลก / รายงาน
|