|
สาธารณสุขร้อยเอ็ด เตือนภัย โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และโรคไข้เลือดออก
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และโรคไข้เลือดออก ในภาพรวมของจังหวัดร้อยเอ็ด ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2553 พบว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ในปี 2553 ตั้งแต่ 1 มกราคม 3 ตุลาคม 2553 มีรายงานผู้ป่วยยืนยัน 52 ราย เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ โพธิ์ชัย พนมไพรและเชียงขวัญ ส่วนอำเภอที่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด 18 ราย พนมไพร 10 ราย และหนองพอก 9 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 25-44 ปี ส่วนโรคไข้เลือดออก ในปี 2553 ตั้งแต่ 1 มกราคม 3 ตุลาคม 2553 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 1,372 ราย เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วย 104.88 ประชากรแสนคน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.07 จังหวัดร้อยเอ็ด มีอัตราป่วยอยู่ในลำดับที่ 41 ของประเทศ เป็นลำดับที่ 8 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม สำหรับในเดือนกันยายน ตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2553 มีรายงานผู้ป่วย 215 ราย อำเภอที่มี่รายงานผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด 64 ราย รองลงมาคือสุวรรณภูมิ 42 ราย ธวัชบุรี 15 ราย เชียงขวัญ 14 ราย เสลภูมิ 11 ราย และโพนทอง 11 ราย และพบผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย คืออำเภอเสลภูมิ
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาว คาดการณ์ว่า อาจจะเกิดการระบาดของโรคขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่น เช่น โรงเรียนกวดวิชา เรือนจำ โรงงาน สถานที่ทำงาน ค่ายทหาร ดังนั้น จึงมีคำแนะนำสำหรับการรวมตัวของคนหมู่มาก ดังนี้ หากพบผู้มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้สูง 2 วัน ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แม้จะมีอาการไม่มาก ควรรีบพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และไม่ควรเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมกับคนหมู่มาก แต่หากจำเป็นต้องเข้าร่วมงาน ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือบ่อยๆ ส่วนโรคไข้เลือดออกนั้น ขอให้ยึดหลัก 5 ป ดังนี้ ป ที่ 1 คือ ปิดฝาโอ่ง หรือ ภาชนะขังน้ำให้มิดชิดแน่นหนา ป ที่ 2 คือ เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น น้ำในแจกัน โอ่งน้ำ ป ที่ 3 คือ ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะต่างๆ เช่น ปลาหางนกยูง ป ที่ 4 คือ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทั้งในตัวบ้าน และนอกบ้าน ป ที่ 5 คือ ปฏิบัติเอง โดยเจ้าของบ้าน จนเป็นนิสัย ไม่ต้องรอ อสม. หรือใครมาทำให้ ประการที่สำคัญ ในการป้องกันยุงลายกัด โดยเฉพาะเวลากลางวัน ควรกางมุ้งเวลานอน เปิดพัดลมไล่ยุง และจุดยากันยุงหรือทายากันยุง ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด และห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกได้.
พิมลสิริ มณีฉาย ข่าว
|
|
|