|
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า เมื่อ
วันที่ 9 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับรายงานจากหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วของสำนักงานฯว่าขณะนี้มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษ
ในหลายอำเภอโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ตำบลนาอุดมอำเภอโพนทอง ได้รับประทานเห็ดสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายถ่าน เก็บมาจากหมู่บ้าน หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน แขนขาอ่อนแรงและเสียชีวิตลง ด้วยภาวะตับวาย 1 ราย และกำลังพักรักษาตัวที่ ตึกไอซียู อีก 1 ราย ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 ที่ตำบลแคนใหญ่ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ก็มีผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษ อีก 4 ราย มีอาการเช่นเดียวกัน ได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด มีอาการดีขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ที่ตำบลบ้านเขือง อำเภอเชียงขวัญ ก็พบผู้ป่วยอีก 5 ราย มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ที่แตกต่างคือมีอาการถ่ายเหลว ร่วมด้วย ขณะนี้ก็พ้นขีดอันตรายแล้ว
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านคุ้นเคยกับการเก็บเห็ดซึ่งเกิดขึ้นในป่าและบริเวณใกล้บ้านมารับประทานตามวิถีชีวิตชาวบ้านช่วงฤดูฝนและมีผู้เสียชีวิตทุกปี จึงอยากย้ำเตือนถึงการพิจารณาเห็ดที่เก็บมาประกอบอาหาร เห็ดมีพิษ เช่นเห็ดเพิ่งข้าวก่ำ เห็ดคันจ้อง เห็ดหมากหม่าย (คล้ายเห็ดโคน) อย่ากินเห็ดที่ไม่แน่ใจหรือไม่รู้จัก ถ้าจำเป็นต้องกินให้ชิมเพียงเล็กน้อยเพื่อดูอาการ อย่ารับประทานจนอิ่มมาก เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก ควรปรุงให้สุกอย่ารับประทานแบบสุกๆดิบๆ หรือรับประทานเห็ดพร้อมกับการดื่มสุรา
สำหรับการช่วยเหลือผู้กินเห็ดพิษ ต้องรีบปฐมพยาบาล โดยด่วน ด้วยการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารตกค้างออกมาใช้น้ำอุ่น ผสมผงถ่าน activate charcoal และดื่มน้ำ 2 แก้ว ให้ล้วงคอให้อาเจียนทั้ง 2 ครั้ง แล้วรีบนำส่งแพทย์พร้อมเก็บตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย ถ้าผู้ป่วยอาเจียนออกยาก ให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชา ผสมน้ำอุ่นให้ดื่ม จะทำให้อาเจียนง่ายขึ้น (แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ) ให้กินเห็ดที่เคยกินแล้วปลอดภัยจะไม่เป็นอันตราย จากการกินเห็ดนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในที่สุด
สำนักงานสาธารณ สุขจังหวัดร้อยเอ็ด
14 มิถุนายน 2553
สุจิตรา ปัญญาดิลก/ข่าว
|
|
|