วันที่ 9 มิถุนายน 2565 กฎหมายปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด มีผลบังคับใช้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจตนารมณ์ที่สำคัญเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ได้ผลในการรักษาโรค โดยไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ไม่เสพติด ไม่เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิต
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด แนะนำในการใช้กัญชาและกัญชง ขอให้ระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากบริโภคอย่างไม่เหมาะสม โดยแนะนำต้องไม่จำหน่ายแก่บุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์ มารดาที่ให้นมบุตร นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังการใช้ในผู้มีโรคเรื้อรังและผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มโรครุนแรง เช่น จิตเภท ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว เพื่อคุ้มครองไม่ให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีโอกาสเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่ และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผลและการยับยั้งชั่งใจ ทั้งในขณะเสพและหลังเสพ จนเกิดอาการทางจิตเวชตามมาได้
ฤทธิ์ของสารสกัดจากกัญชาที่มีต่อระบบประสาทสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มอาการ ดังนี้
1) กดประสาท ผลเบื้องต้นทำให้รู้สึกสงบ สุขคนเดียวได้ ง่วง อยากนอน แต่ทำให้ไม่มีแรงจูงใจทำอะไร หากเสพเกินขนาดจะหลับลึก ไม่ค่อยรู้ตัว
2) กระตุ้นประสาท ผลเบื้องต้นทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ไม่หิว ไม่เหนื่อย แต่ถ้าได้รับสาร THC มากขึ้นจะกระสับกระส่าย กลัว ตื่นตระหนก หากเสพเกินขนาดหัวใจจะเต้นเร็วมากขึ้นและอุณภูมิร่างกายสูงขึ้น
3) หลอนประสาท ทำให้มีอาการเคลิ้มฝันกลางวัน วิตกกังวล กลัว ไม่อยากออกไปไหน หากเสพเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น ยิ้มพูดคนเดียว หูแว่ว หวาดระแวง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
17 มิถุนายน 2565
ที่มาของข้อมูล : กรมสุขภาพจิต
พงษ์พิพัฒน์ ศรีเกื้อกลิ่น / ข่าว ทองสุข โพนเงิน บรรณาธิการข่าว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=547555046836200&set=a.105584184366624
|