กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โดยได้นำตำรับยากัญชาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 8 ตำรับ นอกจากนั้นกัญชายังสามารถนำมาต่อยอดในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 พืชกัญชากัญชงไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกัญชากัญชงในประเทศไทย และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้ก้าวไปด้วยกันอย่างถูกต้องว่า ประชาชนจะสามารถปลูกพืชกัญชากัญชง เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพ และเมื่อปลูกแล้วยังสามารถแสดงตนด้วยการจดแจ้งผ่านระบบแอปฯ ปลูกกัญของ อย. ได้ด้วย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเองได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในการนำกัญชากัญชงไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม พร้อมทั้งการออกประกาศกำหนดให้กลิ่นควันกัญชากัญชงเป็นเหตุรำคาญ นโยบายนี้ไม่ครอบคลุมถึงการสูบหรือการบริโภคเพื่อความบันเทิงหรือนันทนาการ เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข
ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่จะต้องมีการจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ปลูกกัญ ของ อย. ที่จัดทำขึ้นและสามารถถอนการจดแจ้งได้เมื่อพบการกระทำความผิดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การจดแจ้งแอปพลิเคชันปลูกกัญนั้นเป็นไปเพื่อรักษาสิทธิของผู้ปลูกก่อนที่ พ.ร.บ.กัญชากัญชงจะประกาศบังคับใช้ โดยแจ้งตามวัตถุประสงค์การปลูก ซึ่งการปลดล็อกนี้จะทำให้ประชาชนสามารถปลูกเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและใช้ในครัวเรือน เพื่อนำไปใช้ในการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของกรณีที่เป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน และเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์หรือในทางอุตสาหกรรมได้ สำหรับการผลิตแปรรูปส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชากัญชง เช่น ใบ ช่อดอก กิ่งก้าน ราก ไม่ต้องขออนุญาตยาเสพติด
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีพืชกัญชากัญชง หรือสารสกัดกัญชากัญชง เป็นส่วนประกอบ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง ให้ขออนุญาตตามกฎหมายผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น ยาน้ำมันกัญชา ยาแผนไทยที่มีใบ ช่อดอก ราก ฯลฯ เป็นส่วนผสม ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร กรณีเป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน หากจะใช้กัญชากัญชง ไปปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ทำได้ตามการประกอบวิชาชีพโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตผลิต หากมีข้อสงสัยเรื่องการปลูกการสกัด หรือการขออนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์ให้สอบถามเพิ่มเติมโทร 1556 กด 3 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
9 มิถุนายน 2565
พงษ์พิพัฒน์ ศรีเกื้อกลิ่น ข่าว แหล่งข้อมูลจาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทองสุข โพนเงิน บรรณาธิการข่าว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=542552370669801&set=a.105584184366624
|