สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกจังหวัดร้อยเอ็ดพบผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 จังหวัดร้อยเอ็ด มีรายงานผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 35 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 2.67 ต่อประชากรแสนคน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบการเกิดโรคใน 7 อำเภอ 15 ตำบล 21 หมู่บ้าน (คิดเป็นร้อยละ 0.85 ของหมู่บ้านทั้งหมด) อำเภอที่มีอัตราป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ปทุมรัตต์ สุวรรณภูมิ พนมไพร จตุรพักตรพิมาน และเกษตรวิสัย พบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 25 - 44 ปี
อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ใบหน้าหรือผิวหนังแดง อาเจียน ปวดท้อง ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น และอาจเกิดอาการช็อกทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2. เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ 3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และใช้มาตรการ 7 ร.ดูแลควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมทุกสถานที่ ทุกหน่วยงาน ได้แก่ 1.โรงเรือน(บ้านเรือน) 2.โรงเรียน 3.โรงงาน 4.โรงพยาบาล 5.โรงธรรมหรือวัด 6.โรงแรม และ 7.สถานที่ราชการ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
20 พฤษภาคม 2565
พงษ์พิพัฒน์ ศรีเกื้อกลิ่น ข่าว/ภาพ ทองสุข โพนเงิน บรรณาธิการข่าว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=529708381954200&set=a.105584184366624
|