สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ชวนหญิงไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมเป็นประจำทุกเดือน ชี้ พบก้อนเนื้อมะเร็งเร็ว มีโอกาสรอดร้อยละ 75 90 พร้อมแนะออกกำลังกาย เพิ่มกินผัก ผลไม้ ลดอาหารที่มีไขมัน และควบคุมน้ำหนัก จะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้อีกทางหนึ่ง
โรคมะเร็งเต้านม พบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ระบุว่า มีผู้ป่วยเฉลี่ยรายใหม่ 18,000 คนต่อปี หรือ 49 คนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่จะพบในหญิงที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านม
วิธีการป้องกัน คือ ผู้หญิงทุกคน ควรตรวจเต้านมเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงสภาพที่เป็นปกติของเต้านม หากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะสามารถพบได้ ตั้งแต่เนิ่น ๆ
วิธีการตรวจมะเร็งเต้านม การตรวจเต้านมควรตรวจหลังช่วงหมดประจำเดือน 5-7 วัน ควรทำอย่างสม่าเสมอทุกเดือน ส่วนผู้ที่ใกล้หมดวัยมีประจำเดือนแล้ว ควรตรวจเต้านมให้ตรงกับวันที่ตรวจครั้งแรกทุกเดือน ดังนี้
การดูด้วยตา
1. ยืนส่องกระจกปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย ดูว่าเต้านมทั้งสองข้างมีการเปลี่ยนแปลงจากปกติหรือไม่ หัวนมมีการเปลี่ยนสีหรือมีของเหลวออกจากหัวนมหรือไม่
2. ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ เพื่อดูด้านหน้าและด้านข้างของเต้านมว่ามีความผิดปกติ เช่น รอยยุบหรือรอยบุ๋มหรือไม่
3. เอามือเท้าเอว เกร็งหน้าอก โค้งตัวมาข้างหน้า ดูเต้านมที่ห้อยมาข้างหน้าว่า ผิดปกติหรือไม่ หัวนมบิดเบี้ยวหรือไม่
การคลำด้วยมือ
1. นอนหงายในท่าสบาย
2. สอดผ้าขนหนูม้วนใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจโดยให้แขนตั้งฉากกับไหล่
3. ใช้กึ่งกลางนิ้วส่วนบน 3 นิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) กดเป็นวงกลมขนาดเท่าเหรียญสิบบาทแล้วเคลื่อนนิ้วให้ทั่วบริเวณเต้านมโดยไม่ยกนิ้วโดยกด 3 ระดับ เบา กลาง หนัก คลำจากบริเวณใต้ราวนมจนถึงกระดูกไหปลาร้าในแนวขึ้นลงจนทั่วบริเวณเต้านมถึงบริเวณใต้ท้องแขน โดยใช้วิธีเคลื่อนนิ้วเช่นกัน
4. ตรวจเต้านมอีกข้างในแบบเดียวกัน
การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) สามารถพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด 2 3 มิลลิเมตรขึ้นไป ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 100 ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 100 ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 98 ขนาดระหว่าง 2 5 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 88 ขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 52 และ ระยะแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น มีอัตรารอดชีพร้อยละ 16 ประชาชนจึงควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายตนเอง และพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ หากเราสามารถตรวจพบมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
2 พฤษภาคม 2565
พงษ์พิพัฒน์ ศรีเกื้อกลิ่น /ข่าว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข /ข้อมูล ทองสุขโพน โพนเงิน บรรณาธิการข่าว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=517670246491347&set=pcb.517670309824674
|