|
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ ภาษาอีสานเรียกว่า โรคหมาว้อ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ เรบีส์ ไวรัส อาจเกิดจากการกัด หรือ ข่วน จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู
อาการแสดงของโรค มักเป็นการอักเสบสมองและเยื่อสมอง ในระยะ 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ คัน หรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อมาจะหงุดหงิด กระสับกระส่าย ตื่นเต้น ไวต่อสิ่งเร้ารอบกาย ไม่ชอบแสง ลม มีน้ำลายไหล กล้ามเนื้อคอกระตุก เกร็ง ขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการ "กลัวน้ำ" ต่อมาจะเริ่ม เพ้อคลั่ง สลับกับอาการสงบ ชัก ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอัมพาต โดยมีอาการแขนขาอ่อนแรง หมดสติ เสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากส่วนสำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ในทวีปเอเชียมักมีสุนัขเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ในประเทศไทย จากปี พ.ศ. 2551-2552 แนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 9 คน เป็น 25 คน และเมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นผู้หญิงวัยกลางคน ที่มีอาชีพขายสุนัขที่ ตลาดนัดสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุด คือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัขกัดหรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะมาจากน้ำลายสัตว์ที่เป็นโรค ที่สำคัญที่สุด คือ การเสริมภูมิคุ้มกันในสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์นำโรค รวมทั้ง การควบคุมจำนวนสุนัขด้วย ถ้าสงสัยว่าได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทราบทันทีและประสานกับปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อควบคุมโรคต่อไป
สุจิตรา ปัญญาดิลก/ข่าว
ธัญชนก วงษ์หาญ/ข่าว |
|
|