วานนี้ (๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔) เวลา ๑๖.๓๐ น. ณ ห้อง Smart Room (ชั้น ๒) นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดร้อยเอ็ด ครั้งที่ ๓๙/๒๕๖๔ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting โดยมี นพ.ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยอ็ด นายสนอง ดลประสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ รองนายแพทย์สาธารณะสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ทั้งนี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกับนายอำเภอทั้ง ๒๐ อำเภอด้วย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในประเทศไทยมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓
และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID- ๑๙) ในหลายพื้นที่ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๗) ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ได้ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้ เพื่อแก้ไขและคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วนั้น
การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และหารือถึงการกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการรองรับกรณีชาวร้อยเอ็ดที่ไปทำงานในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดประสงค์จะเดินทางกลับมายังจังหวัดร้อยเอ็ดทั้งผู้ที่มีผลตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อและยังไม่มีผลตรวจยืนยัน
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในการออกมาตรการสำคัญ ดังนี้
๑. ใช้อาคารเรียนหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถานศึกษา โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้งดใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดการเรียน การสอนหรือทำกิจกรรมใด ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค
๒. การเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดกรณีผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) และ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) ให้ถือปฏิบัติดังนี้
(๑) แจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าพื้นที่ต่อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข (๒) เมื่อเดินทางเข้าพื้นที่ ให้รายงานตัวต่อ กำนัน ผ้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม. หรือเจ้าหน้าที่ (๓) ลงทะเบียนในแอพลิเคชั่น ของจังหวัดร้อยเอ็ด (๔) กักตนเองที่บ้าน หรือที่พักอาศัย หรือที่ที่ทางราชการกำหนด เป็นเวลา ๑๔ วัน หรือ ตามที่พักอาศัยอยู่จริง ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด (๕) กรณีแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เข้ารับการกักตัวโดยคุมไว้สังเกต ในที่สถานที่กักตัวของแต่ละพื้นที่กำหนด (๖) ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้กักตัวหากมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจหรือทำธุระส่วนตัวให้ขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ก่อนทุกคร้ัง (๗) ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด ๑๙ ชนิด Sinovac Sinopharm เข็มที่ ๒ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๔ วัน หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด ๑๙ ชนิดอื่น เข็มที่ ๑ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๘ วัน ไม่ต้องกักตัว ทั้งนี้ต้อง รายงานตัวพร้อมแสดงหลักฐานต่อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งลงทะเบียนผ่าน Q.R Code ร้อยเอ็ดพร้อมด้วย
๓. ผู้เดินทางจากจังหวัดอื่น ให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) แจ้งล่วงหน้าก่อนเข้าพื้นที่ต่อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
(๒) เมื่อเดินทางเข้าพื้นที่ ให้รายงานตัวต่อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม. หรือเจ้าหน้าที่
(๓) ลงทะเบียนในแอพลิเคชั่น ของจังหวัดร้อยเอ็ด
(๔) สังเกตอาการตนเองเป็นเวลา ๑๔ วัน และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
(๕) กรณีพักอาศัยในสถานประกอบการโรงแรม ที่พักอื่นในลักษณะเดียวกัน ให้ลงทะเบียนตามระบบที่สถานที่พักจัดให้และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด สำนักงาน
สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๒กรกฎาคม ๒๕๖๔
พงษ์พิพัฒน์ ศรีเกื้อกลิ่น ข่าว/ วิรงรอง สิงห์ยะบุศย์ ภาพ/ ทองสุข โพนเงิน บรรณาธิการข่าว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=335802041344836&set=pcb.335802241344816
|