ในช่วงนี้อุณหภูมิในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารน้ำดื่มน้ำแข็งเป็นพิเศษ โดยสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 มีนาคม 2564 พบผู้ป่วยจำนวน 16,581 ราย เสียชีวิด 1 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมา อายุ 25-34 ปี และอายุแรกเกิด - 4 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ขอนแก่น และเชียงราย ตามลำดับ
โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ ที่มากับอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่ปรุงไว้นานหรืออาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ และไม่ได้แช่เย็นหรือนำมาอุ่นให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ประกอบกับในช่วงนี้อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี สำหรับอาการของโรคอาหารเป็นพิษ เช่น อาการของผู้ป่วยจะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ การช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง อาหารกล่องควรแยกกับและข้าวออกจากกัน หากมีรูป รส กลิ่น สีผิดปกติไม่ควรทาน เลือกซื้อวัตถุดิบที่สดสะอาดและมีคุณภาพ ควรล้างผักและผลไม้ก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากพืชและสัตว์ที่มีพิษ เมื่อรับประทานอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลังจากเข้าห้องน้ำหรือก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
|