โรคและภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูร้อน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ
2.ภัยสุขภาพ
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ แบ่งเป็น 6 โรค ได้แก่
1) โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
2) โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีสิ่งปนเปื้อนสารพิษหรือสารเคมี ซึ่งมักพบในพืชและสัตว์ เช่น เห็ด และอาหารทะเลต่างๆ
3) โรคบิด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโปรโตซัวในระบบทางเดินอาหาร
4) ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วย
5) โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากการติดต่อกันผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ
6) โรคอหิวาตกโรค ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่
สำหรับแนวทางการป้องกันโรคทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ การยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือ กินร้อน คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ช้อนกลางส่วนตัว คือ ช้อนที่มีไว้ตักกับข้าวใส่จานตัวเองและใช้คนเดียว ล้างมือ คือ การล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนและหลังการประกอบอาหาร รับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ ต้องดื่มน้ำที่สะอาด น้ำต้มสุก หรือน้ำที่บรรจุในขวดที่มีฝาปิดสนิท
กลุ่มที่ 2 ภัยสุขภาพที่ควรระมัดระวัง แบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่
1) การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศ 2) ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน และ 3) การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 และเข้ารักษาพยาบาลในสถานบริการสุขภาพใกล้บ้านท่าน ได้ทันที
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
18 มีนาคม 2564
แหล่งข้อมูล..กรมควบคุมโรคhttps://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=17604&deptcode=
|