สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ชี้เชื้อโรคมือ เท้า ปาก เข้าสู่ปากโดยตรง ส่วนใหญ่ติดมากับมือ หรือของเล่น เน้นย้ำถึงผู้ปกครองและครูหมั่นตรวจสุขภาพเด็กก่อนเข้าเรียนทุกวัน หากพบอาการไข้ต่ำๆ เบื่ออาหารมีตุ่มพองใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า กระพุ้งแก้ม ให้สงสัยป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก ป้องกันได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ในจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วย รวมทั้งสิ้น 587 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดที่อำเภอโพนทอง รองลงมาคือ สุวรรณภูมิ เสลภูมิ และอำเภอเมืองร้อยเอ็ด ตามลำดับ พบมากในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 4 ปี พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะสถานที่ที่พักอาศัยอยู่รวมกัน โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากแผลตุ่มพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วย และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน ติดต่อกันได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการทุเลาลงแล้วก็อาจแพร่เชื้อได้เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นาน 6-8 สัปดาห์ โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้เจ็บแผลในปาก ควรให้ผู้ป่วยนอนพักมากๆ เช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนม แทนการดูดจากขวด และควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้สูง ซึม ไม่ยอมดื่มนมหรือทานอาหาร อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด แนะ 6 มาตรการหลักในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยอาศัยความร่วมมือของสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็ก ดังนี้ 1. ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันทุกคนในตอนเช้า 2. แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติขณะรอผู้ปกครองรับกลับ 3. หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายป่วย 4. ให้เด็กล้างมือบ่อยๆหรือทุกครั้งที่สัมผัสกับสิ่งสกปรกก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องส้วม ก่อนและหลังทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ 5. ทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น ภายในศูนย์ฯ และโรงเรียนเป็นประจำทุกวันสำหรับของใช้ส่วนตัว และทุกสัปดาห์สำหรับอุปกรณ์ในห้องเรียนหรือทุกครั้งที่พบมีเด็กป่วย 6. หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที ส่วนในกรณีที่เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดหากพบตุ่มในปากโดยยังไม่มีอาการอื่น ให้เด็กหยุดเรียนอยู่บ้านได้เลยและหากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมากโดยพบว่าป่วยตั้งแต่ 2 รายภายใน1สัปดาห์ ควรพิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย หรือปิดโรงเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก กรณีมีเด็กป่วยมากกว่า 1 ห้องเรียนภายใน 1 สัปดาห์ จัดบริเวณล้างมือให้สะดวกและเพียงพอ เพื่อให้นักเรียนได้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องส้วม ล้างมือบ่อยครั้ง ช่วยยับยั้งโรคมือเท้าปาก
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
26 พฤศจิกายน 2563
ทองสุข โพนเงิน/ข่าว
แหล่งข้อมูล...กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
|