สถานการณ์โรคมือเท้าปากในจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วย 264 ราย(อัตราป่วย20.17 ต่อประชากรแสนคน) ไม่มีผู้เสียชีวิต และพบว่าในช่วงนี้ (เดือนตุลาคม 2563) มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึง 101 ราย ซึ่งมากกว่าเดือนกันยายนถึง 1.80 เท่า กลุ่มอายุที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มเด็กวัยก่อนเรียน อายุ 1-2 ปี รองลงมาคือ อายุ 3-4 ปี มีการเกิดระบาดเป็นกลุ่มก้อน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล
การติดต่อและอาการของโรค โรคมือเท้าปาก จะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ซึ่งจะพบผู้ป่วยมากในกลุ่มเด็กเล็ก ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรค ผู้ปกครองและครู ช่วยกันดูแลสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการข้างต้น ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม ทั้งนี้
ขอแนะนำวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก และโรคโควิด 19 ดังนี้ 1. ให้ผู้ปกครองคัดกรองอาการของเด็กก่อนมาสถานศึกษา หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน 2. ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่นของใช้ จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 3. หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม 4. หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น 5. จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และ 6.หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ควรให้หยุดเรียนและพาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
26 ตุลาคม 2563
ทองสุข โพนเงิน/ข่าว
กลุ่มงานควบคุมโรคติอต่อ/แหล่งข่าว
|