สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ขอเชิญชวนประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 28 กันยายน ของทุกปี ย้ำ โรคพิษสุนัขบ้า เมื่อแสดงอาการแล้ว ตาย 100% ไม่มียารักษาแต่ป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีน เมื่อถูกกัดแล้ว อย่าชะล่าใจ ให้ไปพบแพทย์ทันที โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies virus) เป็นโรคติดต่อจากการถูกสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่น ๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง เป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 15 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยาก ดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต ภายใน 2 7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ
วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี โดยในปี 2563 ภายใต้ประเด็นรณรงค์ที่ว่า End Rabies: Collaborate, Vaccinate สังคมร่วมใจ ประเทศไทยปลอดพิษสุนัขบ้า ร่วมกันพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนนำสัตว์เลี้ยง (สุนัข แมว) ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่ออายุ 2 - 4 เดือน หลังจากนั้น 1 เดือน ให้ฉีดกระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง (ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกในปีแรก) และจากนั้นฉีดกระตุ้น 1 เข็มซ้ำทุก ๆ ปีตลอดชีวิต ตามคำแนะนำของ สัตวแพทย์ โดยทุกคนสามารถป้องกันตัวเองจากการถูกสัตว์กัดหรือข่วนด้วย คำแนะนำ 5 ย. คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
ทั้งนี้ หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ กัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรค หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
28 กันยายน 2563
|