ร้อยเอ็ด แถลงข่าว COVID 19 ครั้งที่ 91
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2563 ) เวลา 15.00 น. นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ประธานการแถลงข่าวฯ พร้อมด้วย ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นายโสภณ เจริญพร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์และการดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 91 ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด
จังหวัดร้อยเอ็ด มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 (ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 22 กรกฎาคม 2563) จำนวน 373 ราย ไม่มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อรายใหม่ พบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 สะสม จำนวน 3 ราย(รักษาหายทั้ง 3 ราย) ตรวจแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19 จำนวน 370 ราย การค้นหาเชิงรุกผู้ต้องขังแรกรับในเรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด (ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน - 22 กรกฎาคม 2563) ยอดสะสมจำนวน 283 ราย ไม่มีการส่งตรวจ รายใหม่ ตรวจแล้วไม่พบเชื้อโควิด-19 จำนวน 283 ราย
สถานการณ์ทั่วโลก ใน 211 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ (ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม ถึง 22กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสม จำนวน 15,093,246 ราย (มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 239,093 ราย) มีผู้เสียชีวิตสะสม 619,465 ราย(มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5,678 ราย) ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 4,028,569 ราย เสียชีวิต 144,953 ราย รองลงมา คือ บราซิล 2,166,532 ราย เสียชีวิต 81,597 ราย และอินเดีย 1,194,085 ราย เสียชีวิต 28,770 ราย
สถานการณ์ในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2563) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสมจำนวน 3,261 ราย มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย และมียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ในลำดับที่ 103 ของโลก
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมของในการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จังหวัดร้อยเอ็ด ครั้งที่ 20/2563 วันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2563 ดังนี้ 1.หัวใจ ความสำเร็จ ของการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ การควบคุมโรค และการป้องกันการแพร่เชื้อ การควบคุมคือสอบสวนให้รู้ต้นตอของเชื้อโรค แล้วรักษาผู้ป่วยให้หาย การป้องกันคืออย่าให้เชื้อแพร่กระจาย คือสร้างเกราะป้องกัน เกราะที่ดีที่สุดในขณะที่ยังไม่มีวัคซีน คือ ความเข้าใจของประชาชน และการลงมือปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงกัน ฉะนั้นคำว่า ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก จึงยังเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่ต้องกระทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเข้มข้น 2. โครงสร้างของสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัว รวมกันเป็นชุมชน/หมู่บ้าน หลายหมู่บ้านรวมกันเป็นตำบล หลายตำบลรวมกันเป็นอำเภอ และอำเภอรวมกันเป็นจังหวัด ตลอดจนโครงสร้างทางการศึกษา และศาสนา หากภายในแต่ละโครงสร้างมีความเข้าใจและปฏิบัติให้เป็นนิสัย โดยผู้นำต้องไม่หย่อนยาน ชี้แจงและกระตุ้นการปฏิบัติอยู่เสมอ ประเทศไทยและร้อยเอ็ดของเรา จะมีความมั่นคงทางสุขภาพ 3. นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังมีผลกระทบอยู่ทั่วโลกแล้ว สถานการณ์ฝนทิ้งช่วง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติด ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อความเป็นอยู่ ของประชาชน ขอให้ผู้เกี่ยวข้องได้หมั่นลงพื้นที่ เข้าสำรวจตรวจสอบ แล้วรีบดำเนินการคลี่คลายปัญหา ตามวิธีปฏิบัติในเชิงรุก ไม่ต้องรอให้ประชาชนมาร้องเรียน 4. บทเรียนของจังหวัดระยองและคอนโดมิเนียมที่กรุงเทพมหานคร สะท้อนให้เห็นความตื่นตัวของประชาชน ภาครัฐต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชน ให้ดำรงการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะโควิด-19 โดยภาคราชการต้องไม่เป็นผู้หย่อนยานเสียเอง ปัจจุบันไม่ถือว่าคนที่มาจากระยอง หรือ กรุงเทพมหานคร เป็นบุคคลถูกเพ่งเล็ง จึงไม่มีการกักตัว 14 วัน
ขอเชิญชวนชาวร้อยเอ็ดร่วมใจ ใช้ชีวิตวิถีใหม่ ให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19
อยู่ห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด ปราศจากแออัด เคร่งครัดไทยชนะ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
22 กรกฎาคม 2563
ธีรศักดิ์ คำแก้ว ข่าว/ภาพ
ทองสุข โพนเงิน บรรณาธิการข่าว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=160910568833985&set=pcb.160910688833973
|