ร้อยเอ็ด ประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคโควิด -19 ครั้งที่15/2563
วันนี้ (17 มิถุนายน 2563) เวลา 09.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อติดตามสถานการณ์และป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 15/2563 ณ ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด
โดยมีนายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายทวี จงประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายเจนเจตน์ เจนนาวิน ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด นายแพทย์ปิติ ทั้งไฟศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ดร.นพ.พิทักษ์พงศ์ พายุหะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นายแพทย์อลงกรณ์ จันทร์เจริญ แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคโควิด-19 และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการภายใต้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ของจังหวัด อันประกอบด้วย 1. มาตรการป้องกันและควบคุมโรค/ 2. มาตรการการบำบัดรักษา /3. มาตรการสร้างการรับรู้และ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน /4. มาตรการเยียวยาและฟื้นฟู /5. มาตรการควบคุมราคาสินค้าและป้องกันการกักตุนสินค้า /6. มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย /7. มาตรการบริหารจัดการ
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มีข้อสั่งการเพิ่มเติมในการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) จังหวัดร้อยเอ็ด ครั้งที่ 15/2563 วันพุธที่ 17 มิถุนายน 2563 ดังนี้ 1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศ.ป.ก.) ทุกระดับ ประชุมชี้แจงบุคลากร ให้เข้าใจประกาศจังหวัดร้อยเอ็ด ฉบับที่ 8 ควบคู่กับคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ 5/2563 เพื่อจะได้ชี้แจงร้านค้า สถานประกอบการ ให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการนั่งดื่มในร้านได้ จะจำหน่ายได้ถึงเวลา 23.00 น. เท่านั้น 2. สถานที่และกิจกรรมที่ยังไม่ผ่อนคลาย คือ สถานบริการ และสถานที่คล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามมวย สนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ร้านเกมส์ สนุกเกอร์ บิลเลียด บ้านลม บ้านบอล 3. สถานการณ์ติดเชื้อในต่างประเทศ ที่มีบางประเทศกลับมาติดเชื้อระลอกใหม่ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พบว่า มีเชื้อจากเขียงปลาแซลมอน ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นจนเป็นปกตินิสัย และรณรงค์อย่าบริโภคเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ปรุงสุก อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ 4. แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับประเทศที่ฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ดีที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 2 รองจากออสเตรเลีย จากการจัดอันดับ 184 ประเทศทั่วโลก โดย GCI (Global Covid-19 Index) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของประชาชน และการทำงานอย่างทุ่มเทของทุกฝ่าย ดีใจได้แต่อย่านอนใจ ขอให้เข้มข้นในการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไป ให้เป็นวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า จึงจะสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้จริง 5. ฤดูฝน การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกจะรุนแรงมากขึ้น ขอให้ใช้กลไกการทำงาน ของการแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19 เข้าแก้ไข อย่าให้เกิดการแพร่เชื้อ หรือประชาชนเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ให้ อ.ส.ม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน และเจ้าพนักงานควบคุมโรค ช่วยกันป้องกันด้วยมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน เก็บน้ำ เก็บขยะ ให้ได้ผลอย่างจริงจัง 6. ให้ ศ.ป.ก. ทุกพื้นที่ ดำเนินการประเมินสถานการณ์ ตามมาตรการป้องกันโรค ตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการผ่อนคลาย ระยะที่ 4 โดยใช้แบบประเมินฯ ออนไลน์ ผ่านระบบ QR code ที่ ศ.ป.ก.จังหวัดร้อยเอ็ด จัดทำให้ โดยกำหนดรอบการประเมิน 2 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 ภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 และรอบที่ 2 ภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2563
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
17 มิถุนายน 2563
ธีรศักดิ์ คำแก้ว ข่าว/ภาพ
ทองสุข โพนเงิน บรรณาธิการข่าว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=150911466500562&set=pcb.150911633167212 |