นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม ๒๕๖๓ จังหวัดร้อยเอ็ด มีรายงานผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 453 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 34.62 ต่อประชากรแสนคน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบการเกิดโรคใน 20 อำเภอ 107 ตำบล 237 หมู่บ้านอำเภอที่มีอัตราป่วยไข้เลือดออกสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ธวัชบุรี เมืองร้อยเอ็ด ศรีสมเด็จ โพนทอง และ พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด มียอดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมอยู่ในลำดับที่ 10 ของประเทศ และลำดับ 5 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ใบหน้าหรือผิวหนังแดง อาเจียน ปวดท้อง ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น และอาจเกิดอาการช็อกทำให้เสียชีวิตได้
การป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้ มาตรการ ๓ เก็บ ป้องกัน ๓ โรค ได้แก่ ๑. เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก ๒. เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ ๓.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
การประเมินความเสี่ยงโรคไข้เลือดออก ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า แนวโน้มจำนวนผู้ป่วย โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด มีรายงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 700 ราย และครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการสำรวจพบลูกน้ำยุงลายในชุมชน โรงเรียน ที่เกินเป้าหมาย แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะมีการแพร่กระจายโรคไข้เลือดออก จึงขอให้เจ้าของสถานที่ทุกแห่ง รวมถึงพี่น้องประชาชนทุกหลังคาเรือนร่วมมือ ร่วมใจกันป้องกัน โรคไข้เลือดออก อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์.
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
2 มิถุนายน 2563
ทองสุข โพนเงิน/ข่าว
กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ/แหล่งข่าว
|