สาธารณสุขร้อยเอ็ด เตือนระวังอันตรายจากว่านจักจั่น อาจมีพิษสะสม
นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 3 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552 ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ อาเจียน มึนงง หน้ามืด ถ่ายเป็นน้ำ บางคนมีอาการชาตามมือและเท้า สาเหตุมาจากการกินว่านจักจั่นดิบ ชาวบ้านเรียกว่า ว่านพญาจักจั่น หรือ จักจั่น จำศีล ซึ่งมีชาวบ้านจากหลายอำเภอและหลายจังหวัด จำนวนมากมาขุดหาที่ ป่าดอนจารย์หนัน ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่บริเวณท้ายบ้านโนนใหญ่ ม.9 และบ้านเหล่าตำแย ม.5 ต. สีแก้ว อ. เมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากมีความเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ไปทำวัตถุมงคล บางคนนำมารับประทาน จนเกิดอาการป่วยเพราะเชื่อว่าจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า ว่านจักจั่น คือจักจั่นระยะตัวอ่อน ซึ่งวงจรชีวิตของจักจั่น จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่เป็นไข่ จะนาน 4 เดือน ตัวจักจั่นจะวางไข่ใต้เปลือกไม้ และต่อมาจะเป็นระยะตัวอ่อน ซึ่งช่วงนี้จะมีระยะเวลานาน 4-6 ปี โดยช่วงชีวิตตัวอ่อนของจักจั่นจะใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน ดูดกินน้ำเลี้ยงจาก รากไม้เป็นอาหาร และระยะตัวเต็มวัย ที่จะมีระยะเวลาเพียง 1-2 เดือน
อาการป่วยที่เกิดกับผู้กินจักจั่นระยะตัวอ่อนดิบๆ เนื่องจากจักจั่นฝังตัวอยู่ในพื้นดินเป็นเวลานาน อาจมีการดูดซับเอาสารเคมี หรือแร่ธาตุต่างๆ และในสภาพแวดล้อมไว้ในตัว เมื่อมีผู้รับประทานอาจเกิดพิษได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จึงขอเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงไม่ควรนำมารับประทานเพราะจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้.
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
12 มิถุนายน 2552
ทองสุข โพนเงิน/ข่าว
|