สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(Emergency Operation Center : EOC) และสรุปบทเรียนการดำเนินงานการเปิดศูนย์ฯ อันเนื่องจากพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุลและคาจิกิ ทำให้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในหลายอำเภอเมื่อช่วงเดือนกันยายน ๒๕๖๒ที่ผ่านมา
วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมนนทรี ชั้น ๓ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นายบุญเลิศ พิมศักดิ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานประชุมคณะกรรมการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขสำหรับทุกโรคและภัยสุขภาพและศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(Emergency Operation Center : EOC) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
ตามที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับผลกระทบจากพายุโพดุลและคาจิกิ ทำให้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในหลายอำเภอ ซึ่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เปิดศูนย์ EOCมาตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒นั้นและสถานการณ์อุทกภัยได้กลับคืนสู่สภาวะปกติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการ เพื่อทำการปิดศูนย์ EOC และสรุปบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคณะกรรมการทุกกลุ่มภารกิจและร่วมกันหาแนวทางพัฒนางานตามการจัดการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขสำหรับทุกโรคและภัยสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
สรุปผลการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) เหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ จากการติดตามสถานการณ์ผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ จากอุกทกภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ถึง ๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ พบว่าจำนวนอำเภอที่ได้รับผลกระทบ ๑๐ อำเภอ เข้าสู่ภาวะปกติทุกอำเภอ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เริ่มเข้าไปทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมได้แล้ว ศูนย์พักพิงชั่วคราว ๓๔ แห่ง ได้ปิดศูนย์ฯไปแล้วทุกแห่ง สำหรับสถานบริการสาธารณสุข ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ ได้รับความเสียหาย จำนวน ๒๔ แห่ง ปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการปกติทุกแห่ง การดำเนินงานให้บริการด้านสาธารณสุข ในช่วงอุทกภัย ได้มีการดำเนินงานในสถานพยาบาล และออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พบว่ามีประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆที่สามารถรักษาหายได้ ได้แก่ โรคผิวหนัง(น้ำกัดเท้า) ระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้าง โรคระบบทางเดินทายใจ(ไข้หวัด) ตามลำดับ
มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ จำนวน ๖ ราย เพศชาย ๕ ราย หญิง ๑ ราย อายุระหว่าง ๒๔ - ๖๗ ปี สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการออกหาปลาในบริเวณน้ำท่วม รองลงมาคืออุบัติเหตุจากถูกกระแสน้ำพัด และเรือล่ม
การดำเนินงานออกติดตามเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง คนชรา และเด็ก จำนวน ๑,๒๔๓ ราย ได้ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคติดต่อในช่วงอุทกภัยกับผู้ป่วยที่มารับบริการทุกราย
การดำเนินงานให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุทกภัย มีผู้บาดเจ็บรับการรักษาในสถานพยาบาล และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ส่วนมากมาด้วยอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ไม่มีผู้บาดเจ็บสาหัส
การดำเนินงานดูแลผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจ โดยทีม MCATT จังหวัดร้อยเอ็ด (อ่านว่า เอ็ม - แค็ด) คือ ทีมสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ได้ดำเนินการคัดกรอง ทั้งสิ้น ๒,๓๒๓ ราย อยู่ในภาวะปกติ ๒,๑๖๒ ราย มีความเครียด ๑๔๓ ราย และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ๑๘ ราย ทีม MCATT จึงได้ติดตามเยี่ยมผู้ประสบภัยในกลุ่มเครียด และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าอย่างใกล้ชิด
การดำเนินงานเตรียมความพร้อมสิ่งสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันโรค ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สามารถดำเนินการสนับสนุน และจัดหาเวชภัณฑ์ได้ตามความต้องการของพื้นที่.
ภาพกิจกรรม : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2468490619937387&id=100003294191323
///////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๓ ตุลาคม ๒๕๖๒
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |