นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึง สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า
ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 28,785 ราย เสียชีวิต 43 ราย
ส่วนสถานการณ์จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2562 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 707 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต อัตราป่วยอยู่ในลำดับที่ 31 ของประเทศ ลำดับที่ 7 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนผู้ป่วยปีนี้ มีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้นประมาณ 2.4 เท่า ซึ่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม สิงหาคม เป็นฤดูกาลการระบาดของโรคไข้เลือดออก
กลุ่มอายุที่พบว่ามีอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 10 14 ปี และ กลุ่มอายุ 5-9 ปี
พื้นที่เกิดโรค พบผู้ป่วย 20 อำเภอ 145 ตำบล 370 หมู่บ้าน อำเภอที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อ.ธวัชบุรี รองลงมาคือ อ.หนองพอก อ.เมืองร้อยเอ็ด อ.โพนทอง และ อ.เสลภูมิ
ตำบลที่พบผู้ป่วยในช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด 5 อันดับแรก คือ ต.ท่าสีดา อ.หนองพอก 14 ราย ต.หนองขุ่นใหญ่ อ.หนองพอก 12 ราย ต.นาแซง อ.เสลภูมิ 10 ราย ต.หัวช้าง อ.จตุรพักตรพิมาน 9 ราย และ ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ 9 ราย
ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยโรคไข้เลือดออก เด็ก ที่มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอยเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย อาจมีอาการผื่น ๆ หน้าแดง ๆ หรือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ผู้ใหญ่ ที่มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอยเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย กินได้น้อย หรือคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องให้ผู้ป่วยไปรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ห้าม ใช้ยาลดไข้ประเภทต้านการอักเสบ (NSAID)(อ่านว่า เอ็น-เสด) ทั้งฉีดและรับประทาน และแนะผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ไม่แนะนำให้เปลี่ยนคลินิกรักษาหรือซื้อยารับประทานเองเรื่อย ๆ เพราะจะทำให้ล่าช้าในการรักษา ทำให้เสียชีวิตได้
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเลือด ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังมีประจำเดือนและติดสุรา ผู้ป่วยผู้ใหญ่บางรายถูกวินิจฉัยในครั้งแรกเลือดออกในกระเพาะ หรือทางเดินอาหารและไข้ไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วย ร้อยละ 50 มีประวัติไปซื้อยารับประทานเองหรือไปฉีดยาลดไข้จากคลินิก
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ขอความร่วมมือให้ทุกคนร่วมกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องให้เป็นบ้าน/สถานที่ ปลอดลูกน้ำยุงลาย ทำทุกบ้าน ทุกพื้นที่ ทุกสัปดาห์ ในชุมชน เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะ โดยการสำรวจและกำจัดขยะ หรือภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยไม่ต้องรอให้มีน้ำขัง เช่น ถ้วย กล่องโฟม กะลามะพร้าว เปลือกไข่ กระป๋อง แก้วพลาสติก ถังน้ำ ยางรถยนต์ ไม่มีลูกน้ำ ไม่มียุงลาย ไม่ให้ยุงเกิด ไม่ให้ยุงกัด
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
18 มิถุนายน 2562
|