จังหวัดร้อยเอ็ด รวมพลังขับเคลื่อนใช้มาตรการเข้มหยุดไข้เลือดออก หยุดไข้เลือดออก เริ่มต้นที่ตัวเรา
เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ น. นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินรับการระบาดโรคไข้เลือดออก จังหวัดร้อยเอ็ด ณ ห้องประชุมลีลาวดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นพ.ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นเลขาฯการประชุม ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ และหัวหน้ากลุ่มงาน/ฝ่ายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด รวม ๗๐ คน เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด
ที่ประชุม ได้มีมติร่วมกัน ดังนี้
๑.ให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯระดับอำเภอ โดยนายอำเภอเป็นประธาน ใช้กลไก พชอ.ขับเคลื่อนการดำเนินงาน จัดทำ MOU. กับ อปท.และภาคีเครือข่ายในอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน จัดทำแผนปฏิบัติการ รวมทั้งกำหนดผู้รับผิดชอบในแผนปฏิบัติการ มีการติดตามกำกับอย่างต่อเนื่อง
๒.จัดให้มีการรณรงค์วันดีเดย์ไข้เลือดออก ในระดับจังหวัดและอำเภอ
๓.หน่วยงาน/องค์กรทุกแห่ง ต้องปลอดลูกน้ำยุงลาย เน้นการควบคุมโรค โดย
๓.๑ ใช้มาตรการ ๓ เก็บ ได้แก่
- เก็บบ้าน : ให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บน้ำ : โดยการปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิดป้องกันยุงลายไปวางไข่ (๖ ป.๑ ข สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง : ปิดภาชนะน้ำขัง ปล่อยปลากินลูกน้ำ เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก ๗ วัน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในและรอบบ้าน ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และขัดภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำกำจัดไข่ยุง) และการป้องกันตนเองด้วยการทายากันยุง กำจัดยุงลายโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือวิธีภูมิปัญญาท้องถิ่น
- เก็บขยะ : เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆบ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ กระป๋อง กะลา เปลือกหอย เปลือกไข่ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย
๓.๒ใช้มาตรการ ๖ ร ดูแลควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมทุกสถานที่ ทุกหน่วยงาน ได้แก่ ๑ โรงเรือน ๒ โรงเรียน ๓ โรงงาน ๔ โรงพยาบาล ๕ โรงธรรมหรือวัด ๖ โรงแรม
ทั้งนี้ เมื่อพบรายงานว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการ โดยใช้มาตรการ ๓ ๓ ๑ ดังนี้
-เลข ๓ ตัวแรก หมายถึง ๓ ชั่วโมงแรก ต้องรายงานผู้ป่วยจากโรงพยาบาล ถึง อสม. ในหมู่บ้านโดยทีมควบคุมโรคในพื้นที่ (SRRT)
-เลข ๓ ตัวที่สอง หมายถึง ๓ ชั่วโมง ที่ อสม. ต้องเข้าไปควบคุมโรคที่บ้านผู้ป่วยในทันที ร่วมกับทีม ควบคุมโรค(SRRT)ในพื้นที่ ด้วยการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยที่น้ำเชื้อไข้เลือดออก และกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียง ไม่ให้มีลูกน้ำยุงลาย
-เลข ๑ หมายถึง ๑ วัน ให้พ่นสารเคมีเพื่อควบคุมการระบาด โดยให้พ่นในรัศมี ๑๐๐ เมตรจากบ้านผู้ป่วย พร้อมให้รณรงค์ทั้งหมู่บ้าน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยังลายและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ตามวิธีการที่เหมาะสม เช่น เก็บทำลายภาชนะน้ำขัง ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ เปลี่ยนถ่ายน้ำ ใส่ปลากินลูกน้ำ ตามแนวทางด้านการป้องกันก่อนเกิดโรค
หยุดไข้เลือดออก เริ่มต้นที่ตัวเรา
(ผู้ประสานงาน : กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด โทร ๐ ๔๓๕๑ ๑๒๓๓ หรือมือถือนางสาวสุภาภรณ์ มิตรภานนท์ ๐๘ ๑๒๖๒ ๖๔๖๖ และนายประดิษฐ์ ศิริสอน ๐๘ ๑๒๖๐ ๙๙๗๐)
ภาพกิจกรรม : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2273681499418301&id=100003294191323
//////////////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |