นพ.ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า เนื่องในวันที่ ๑๕ มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน(ASEAN Dengue Day) ปี ๒๕๖๒ ใช้คำขวัญว่า หยุดไข้เลือดออก : เริ่มต้นที่ตัวเรา(End Denque : Starts With Me) และได้เผยถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกจังหวัดร้อยเอ็ด ปี ๒๕๖๒ น่าเป็นห่วงที่สุด ข้อมูล ณ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก จากรายงาน ๕๐๖ จำนวนผู้ป่วย ๕๖๓ ราย อัตราป่วย ๔๓.๐๒ ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วย ในปี ๒๕๖๒ มากกว่าค่ามัธยฐาน ๕ ปี ประมาณ ๓ เท่า อัตราป่วย เป็นลำดับที่ ๓๔ ของประเทศ ลำดับที่ ๙ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ลำดับที่ ๑ ของเขตสุขภาพที่ ๗ พบผู้ป่วย ๑๙ อำเภอ ๘๔ ตำบล ๑๓๘ หมู่บ้าน อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด ๕ อันดับแรก ในช่วง ๔ สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ อำเภอหนองพอก อำเภอเมืองสรวง อำเภอธวัชบุรี อำเภอโพนทอง และอำเภอเสลภูมิ ตามลำดับ และมีแนวโน้มว่าอัตราป่วยจะสูงขึ้น
จังหวัดร้อยเอ็ด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีแนวทางการดำเนินงานไข้เลือดออก โดยใช้มาตรการหลักในการควบคุมโรค ดังนี้
๑. สถานที่ราชการทุกแห่ง ตลอดจนอาคารบ้านเรือน ทุกหลังคาเรือน เป็นสถานที่ปลอดลูกน้ำยุงลาย
๒. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่บ้าน หน่วยงานราชการและสถานที่สาธารณะ
๓. เมื่อพบรายงานผู้ป่วย ในพื้นที่ต้องรีบควบคุมโรคโดยเร็ว ดำเนินการตามแนวทางอย่างเข้มข้น
แนวคิดในการควบคุมไข้เลือดออกใช้หลักการคือ ไม่มีลูกน้ำ ไม่มียุงลาย ไม่ให้ยุงเกิด ไม่ให้ยุงกัด
ดังต่อไปนี้
ด้านการป้องกันก่อนเกิดโรค
๑.ใช้มาตรการ ๓ เก็บ ได้แก่
- เก็บบ้าน : ให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บน้ำ : โดยการปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิดป้องกันยุงลายไปวางไข่ (๖ ป.๑ ข สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง : ปิดภาชนะน้ำขัง ปล่อยปลากินลูกน้ำ เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก ๗ วัน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในและรอบบ้าน ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และขัดภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำกำจัดไข่ยุง) และการป้องกันตนเองด้วยการทายากันยุง กำจัดยุงลายโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือวิธีภูมิปัญญาท้องถิ่น
- เก็บขยะ : เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆบ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ กระป๋อง กะลา เปลือกหอย เปลือกไข่ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย
๒. มาตรการ ๖ ร ดูแลควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมทุกสถานที่ ทุกหน่วยงาน ได้แก่ ๑ โรงเรือน ๒ โรงเรียน ๓ โรงงาน ๔ โรงพยาบาล ๕ โรงธรรมหรือวัด ๖ โรงแรม
ด้านการควบคุมโรค เมื่อพบรายงานว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบดำเนินการ ดังนี้
มาตรการ ๓ ๓ ๑
-เลข ๓ ตัวแรก หมายถึง ๓ ชั่วโมงแรก ต้องรายงานผู้ป่วยจากโรงพยาบาล ถึง อสม. ในหมู่บ้านโดยทีมควบคุมโรคในพื้นที่ (SRRT)
-เลข ๓ ตัวที่สอง หมายถึง ๓ ชั่วโมง ที่ อสม. ต้องเข้าไปควบคุมโรคที่บ้านผู้ป่วยในทันที ร่วมกับทีม ควบคุมโรค(SRRT)ในพื้นที่ ด้วยการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยที่น้ำเชื้อไข้เลือดออก และกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียง ไม่ให้มีลูกน้ำยุงลาย
เลข ๑ หมายถึง ๑ วัน ให้พ่นสารเคมีเพื่อควบคุมการระบาด โดยให้พ่นในรัศมี ๑๐๐ เมตรจากบ้านผู้ป่วย พร้อมให้รณรงค์ทั้งหมู่บ้าน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยังลายและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ตามวิธีการที่เหมาะสม เช่น เก็บทำลายภาชนะน้ำขัง ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ เปลี่ยนถ่ายน้ำ ใส่ปลากินลูกน้ำ ตามแนวทางด้านการป้องกันก่อนเกิดโรค
ด้านการสื่อสารเรื่องโรคไข้เลือดออก
๑. ผู้ป่วยที่ต้องสงสัยโรคไข้เลือดออก
- เด็ก ที่มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอยเกินกว่า ๒ วัน อ่อนเพลีย อาจมีอาการผื่นๆ หน้าแดงๆ หรือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- ผู้ใหญ่ ที่มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอยเกินกว่า ๒ วัน อ่อนเพลีย กินได้น้อย หรือคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง
แนะนำให้ผู้ป่วยไปรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ห้ามใช้ยาลดไข้ประเภทต้านการอักเสบ(NSAID อ่านว่า เอ็น-เสด)ทั้งฉีดและรับประทาน และแนะผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน ๒ วัน ไม่แนะนำให้เปลี่ยนคลินิกรักษาหรือซื้อยารับประทานเองเรื่อย ๆ เพราะจะทำให้ล่าช้าในการรักษาและเข้าสู่ระบบช้า ทำให้เสียชีวิตได้
๒.ผู้ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยง ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเลือด ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังมีประจำเดือนและติดสุรา ผู้ป่วยผู้ใหญ่บางรายถูกวินิจฉัยในครั้งแรกเลือดออกในกระเพาะ หรือทางเดินอาหารและไข้ไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยร้อยละ ๕๐ มีประวัติไปซื้อยารับประทานเองหรือไปฉีดยาลดไข้จากคลินิก แม้จะมีไข้สูงมามากกว่า ๒ วัน โดยไม่ได้รับการตรวจสัญญาณชีพและไม่ได้รับคำแนะนำให้ไปตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาล.
(ข้อมูล : กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด)
/////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
|