สธ.ร้อยเอ็ด เตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ประชาชนปลอดภัยปลอดโรค แนะ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายสำราญ อนุเวช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับจังหวัดร้อยเอ็ด ปล่อยขบวนรถบรรทุกถังเก็บน้ำ "โครงการเฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง" เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ บริษัทเอสซีจีร่วมกับกองทัพบก ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ "เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสาบรรเทาภัยแล้ง" มอบถังเก็บน้ำขนาด ๒,๐๐๐ ลิตร จำนวน ๑,๐๐๐ ใบ แก่ผู้ประสบภัยแล้งทั่วประเทศ
จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ทำการส่งมอบเพื่อช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยแล้งจังหวัดร้อยเอ็ด ในเขตพื้นที่ ๔ อำเภอ ได้แก่ หมู่ที่ ๑,๓,๙ ตำบลคูเมือง อำเภอเมืองสรวง หมู่ที่ ๓,๔,๑๒ ,๑๓ ตำบลสิงห์โคก อำเภอเกษตรวิสัย หมู่ที่ ๑,๗,๘,๙,๑๐.๑๒,๑๕ ตำบลนาใหญ่ อำเภอสุวรรณภูมิ และหมู่ที่ ๑๒ ตำบลบัวแดง อำเภอปทุมรัตต์ ณ ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธี
ทางด้านสาธารณสุข ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง เพราะปัญหาสภาพภัยแล้ง ในบางพื้นที่ของจังหวัดร้อยเอ็ด อาจมีผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ขอความร่วมมือไปยังสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เฝ้าระวังโรคภัยสุขภาพที่มาพร้อมกับภัยพิบัติ ไว้เป็นการเตรียมการล่วงหน้า โรคที่พบบ่อยในช่วงภัยแล้ง มักจะเป็นโรคระบบทางเดินทางอาหาร ได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคอหิวาตกโรค เป็นต้น ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน เกี่ยวกับวิธีการดูแลตนเอง ก็คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ โดยปฏิบัติดังนี้
-ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่
-ถ้าต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า ๔-๕ ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็น
-อาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน
-ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่น
-ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้ว มาปะปนกับอาหารดิบอีก เพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้
-เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ
-ดื่มน้ำสะอาด หากไม่มั่นใจควรต้มก่อนบริโภค
-ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ ปรุงอาหาร และรับประทานอาหาร
-ถ่ายอุจจาระในห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
-หากท้องเสียควรดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่(โอ อาร์ เอส)เพื่อช่วยไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป
ทั้งนี้ สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง จะต้องรับปัญหาความต้องการของประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้การบรรเทาช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขทันที สำรวจความเสียหายเกี่ยวกับสถานบริการสาธารณสุข ความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งสาธารณประโยชน์ และความเสียหายด้านอื่นๆ แล้วให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชา.
ภาพกิจกรรม : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2261784900607961&id=100003294191323
/////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |