สสจ.ร้อยเอ็ด พร้อมด้วยเครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าประชุมรับฟังการชี้แจง การดำเนินงานในการเฝ้าระวังตอบโต้ข้อมูลข่าวสารและสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโรคและภัยสุขภาพแก่เครือข่ายสื่อสารสาธารณะทั้งภาครัฐและเอกชน
วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๖.๓๐ น. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด โดย ฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยเครือข่ายสื่อมวลชน จังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมประชุม การดำเนินงานในการเฝ้าระวังตอบโต้ข้อมูลข่าวสารและสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโรคและภัยสุขภาพแก่เครือข่ายสื่อสารสาธารณะทั้งภาครัฐและเอกชน ณ ห้องประชุมอาคาร ๖ ชั้น ๓ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด ดร.เกษร แถวโนนงิ้ว รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงาน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้เกี่ยวข้องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเครือข่ายสื่อสารสาธารณะทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ ๔ จังหวัด รวมทั้งสิ้น ๙๐ คน
สืบเนื่องจาก กรมควบคุมโรค ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ประชาชนได้รับการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ระดับมาตรฐานสากล ภายในปี ๒๕๗๙ มีนโยบายการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ ยึดเป้าหมาย ๔ ด้าน ในการป้องกันโรคควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่คุกคามประชาชนที่สำคัญๆตามจุดเน้นของกรม ได้แก่ การเร่งรัดการค้นหาวัณโรคดื้อยา ตลอดจนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรค NCD การบาดเจ็บทางถนน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ในพื้นที่ และเป็นนโยบายเร่งรัดทำสำคัญ ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า พยาธิใบไม้ตับ หนอนพยาธิ มาลาเรีย โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคตับอักเสบ โรคหัด โปลิโอ โรคจากการประกอบอาชีพ และมลพิษสิ่งแวดล้อม
กระบวนการสื่อสาร เป็นกลไกสำคัญ ที่ส่งผลให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลต่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค กระบวนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วยการจัดทำประเด็นการสื่อสาร ที่ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆที่หลากหลาย การพัฒนาเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์ ที่สนับสนุนต่อการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ที่ออกจากกรมควบคุมโรคไปตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ จะต้องมีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานคือ ความรวดเร็ว ทันท่วงที ชัดเจน ถูกต้อง ตรงประเด็น สะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่ ๒ ผลผลิตที่ได้จากการดำเนินงานสื่อสารประชาสัมพันธ์สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึงและได้ผล ประกอบด้วย ๑) ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคและภัยสุขภาพ ๒) ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคและภัยสุขภาพ ๓) ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพเรื่องโรคและภัยสุขภาพที่เหมาะสม และ ๔) กลไกการบริหารจัดการสื่อสารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเชื่อถือในข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ.
ภาพกิจกรรม : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1982645621855225&id=100003294191323
//////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |