นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ในช่วงต้นฤดูหนาว จะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่
สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย เชื้ออยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอ จาม นอกจากนี้ เชื้อยังอาจติดอยู่กับภาชนะ ของใช้ หรือพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โรคนี้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในสถานที่ที่มีคนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือ แสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นด้วย และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ถ้าพักผ่อนเพียงพอ และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยจะหายจากโรคได้ในเวลา 5-7 วัน บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะ กลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน โรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคตับ โรคไต เบาหวาน เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เป็นต้น
การป้องกัน และรักษา
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของรวมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้ว
น้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรให้ปิดปากด้วยหน้ากากอนามัย เวลาไอหรือจาม
2. ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
3. ขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
4. หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายอยู่สม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย
สม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น และไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น
5. เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัด ควรนอนพักมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้ และผ้าชุบน้ำอุ่น
เช็ดตัว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก มีไข้นานเกิน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ ทันที
6. หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์ทันที เช่นกัน
นอกจากนี้ ในช่วงต้นฤดูหนาว ยังมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคปอดบวม หัด หัด-เยอรมัน สุกใส และอุจจาระร่วง ได้อีกด้วย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
12 พฤศจิกายน 2561
ทองสุข โพนเงิน/ข่าว
|