ช่วงเช้าวันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมแก้วมุกดา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด นพ.ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย พญ.ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น และนายสัตวแพทย์ภูมินทร์ สุมามาลย์ ผู้แทนปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด ได้กำหนดจัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน(EOC) กรณีพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่ตำบลห้วยหินลาด อำเภอสุวรรณภูมิ เพื่อเร่งรัดมาตรการการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการติดตามกำกับประเมินผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด
ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง ปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด ปศุสัตว์อำเภอ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ท้องถิ่นจังหวัดประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
นพ.ปิติ ประธานที่ประชุม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมว่า สืบเนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุด คนหรือสัตว์ที่มีอาการของโรคจะเสียชีวิตทุกราย จากการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ของจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ ถึงปี ๒๕๖๐ ข้อมูลการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสัตว์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในปี ๒๕๕๘ พบสุนัขหัวบวก ๒ หัว ใน ๑ อำเภอ ปี ๒๕๕๙ พบสุนัขหัวบวก ๙ หัว ใน ๓ อำเภอ และในปี ๒๕๖๐ พบสุนัขหัวบวก ๙๑ หัว ตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในโค อีก ๖ หัว ในพื้นที่ ๑๖ อำเภอ ส่วนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคน มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด รายล่าสุด เมื่อปี ๒๕๔๒ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๐ มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน ๑ ราย เป็นชาย อายุ ๒๙ ปี ที่อยู่่ตำบลห้วยหินลาด อำเภอสุวรรณภูมิ จากการสอบสวนโรคผู้เสียชีวิตดังกล่าว เคยถูกสุนัขที่ตนเลี้ยงกัดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ โดยผู้เสียชีวิตไม่ได้มีการทำความสะอาดแผล แจ้งปศุสัตว์หรือพบแพทย์แต่อย่างใด และต่อมาสุนัขตาย ผู้เสียชีวิตยังได้นำไปฝังเอง โดยไม่มีการป้องกันใดๆ จนกระทั่งแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้าและเสียชีวิตในที่สุด
พญ.ศศิธร กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุด คนหรือสัตว์ที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ด จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง และมีผู้เสียชีวิต จึงต้องเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ "สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า" ตามพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป
ทั้งนี้ ผู้เป็นเจ้าของควรพาสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่ออายุ ๒-๓ เดือนขึ้นไป และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี หากถูกกัด ข่วน หรือถูกเลียตามร่างกายโดยจุดที่มีบาดแผลให้รีบทำความสะอาดแผลและรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ให้กักสัตว์ไว้ดูอาการ ๑๐ วัน หากสัตว์มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อนำตัวส่งตรวจต่อไป
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ณ ห้องประชุมพระเวสสันดร ชั้น ๓ ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยนายชยันต์ ศิริมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อปรึกษาหารือการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ตลอดจนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า อย่างเร็วที่สุด.
ภาพกิจกรรม : https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1548176865302105.1073743591.100003294191323&type=1&l=da68dfe9f0
/////////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๐ มกราคม ๒๕๖๑
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |