จังหวัดร้อยเอ็ด ๑ ใน ๒๒ จังหวัด และอำเภอเมืองร้อยเอ็ด ๑ ใน ๑๑ อำเภอนำร่องของประเทศ ในโครงการป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด
เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๙๐๑ ชั้น ๙ อาคารศูนย์แพทยศาสตรศึกษา โรงพยาบาลร้อยเอ็ด นายปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม "การประชุมลงพื้นที่(ติดตามงาน) อำเภอต้นแบบ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด" โครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอ เพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย โดยมีนายแพทย์เกรียงไกร โกวิทางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เป็นผู้กล่าวรายงาน วิทยากรโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงพรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย)
ประเทศไทย ยังไม่มีการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ World Health Assembly ปี พ.ศ.๒๕๕๓ ให้ความสำคัญและสอดคล้องกับ Millennium Development Goal (MDG) ๒๕๕๓-๒๕๕๘ ที่เห็นความสำคัญของการป้องกันดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด เนื่องจากมีความก้าวหน้าทางเวชพันธุศาสตร์ ซึ่งสามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ และมีการดำเนินการเป็นผลสำเร็จในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ในทวีปเอเชีย อาทิเช่น ประเทศมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โครงการระดับชาติ เพื่อป้องกันดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นโครงการระยะแรก ประสบความสำเร็จ โดยดำเนินการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดใน ๒๒ จังหวัดนำร่อง และจัดตั้ง "อำเภอต้นแบบ" ๑๑ อำเภอ
นพ.ปิติ ทั้งไพศาล ได้กล่าวขอบคุณสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด(ประเทศไทย) ทีมงานมหาวิทยาลัยขอนแก่นและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่นำโครงการดีๆ คือโครงการพัฒนาจังหวัดและอำเภอต้นแบบในการป้องกันดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด มามอบให้ประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด และได้เลือกจังหวัดร้อยเอ็ด เป็น ๑ ใน ๒๒ จังหวัดนำร่องของประเทศ และเลือกอำเภอเมืองร้อยเอ็ด เป็น ๑ ใน ๑๑ อำเภอนำร่อง ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ด ก็จะได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป คือ ร่วมกันวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด ระยะที่สอง(พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๖๐) เพื่อให้ระบบการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดเกิดความเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กพิการแต่กำเนิด ๕ โรค ได้แก่ กลุ่มอาการดาวน์ หลอดประสาทไม่ปิด ปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาพิการแต่กำเนิด และกล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชน ได้รับการดูแลแบบองค์รวม ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาของประเทศลดลงได้เป็นอย่างมากในอนาคต.
///////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |