เป้าหมายสูงสุดของงานสาธารณสุข คือ ประชาชนสามารถจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง เพื่อไปสู่ การมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ จึงเป็นที่มาของกิจกรรม ทำดี เพื่อพ่อ 365 วัน บ้านฉันสวย หน้าบ้านสวย หลังบ้านสวน บนบ้านงาม ถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เชิญชวนให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งในจังหวัดร้อยเอ็ด ได้สนับสนุนให้ประชาชนทุกหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของสถานบริการสุขภาพแต่ละแห่ง ได้รณรงค์ให้ทุกครอบครัวได้ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยของตนเอง และมีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของโรคต่างๆ ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือนปลูกผักปลอดสารพิษไว้บริโภคเอง เหลือก็จำหน่าย
ทุกวันที่พี่น้องประชาชนลุกขึ้นมาทำความดี ให้ที่อยู่อาศัยของตนเองสะอาด น่ามอง ให้รำลึกว่าเรากำลังมีส่วนร่วมในสร้างความเจริญในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะเมื่อบ้านเราสะอาด ชุมชนที่เราอยู่อาศัยก็สะอาด ทุกชุมชนสะอาด ตำบลก็สะอาด ทุกตำบลสะอาด อำเภอก็สะอาด เมื่อทุกอำเภอสะอาด จังหวัดก็สะอาดตามๆกันไป ประการสำคัญยิ่งคือ สิ่งแวดล้อมสะอาด ที่อยู่อาศัยสะอาด จะส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตผู้อยู่อาศัย ลดโรคติดต่อสำคัญ คือไข้เลือดออก และโรคติดต่อสำคัญที่เกิดจากสัตว์และแมลงนำโรคอื่นๆด้วย ทั้งยังทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายด้านค่าครองชีพเพราะมี สวนหลังบ้านที่มีพืชผักปลอดสารพิษไว้บริโภคกันอย่างปลอดภัย
ฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์และผู้เกี่ยวข้อง ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ออกนิเทศติดตามกิจกรรมการรณรงค์ ทำดีเพื่อพ่อ 365 บ้านฉันสวย ใน 20 หมู่บ้านในเดือน เมษายน พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะผู้นิเทศติดตาม พบจุดเด่นที่นำไปสู่สุขภาพดี ของคนร้อยเอ็ด ดังนี้
1. วิถีชีวิตคนอีสาน สภาพครอบครัว ที่อยู่อาศัย อาชีพเกษตรกร เป็นจุดแข็งของการนำไปสู่การมีสุขภาพดี กล่าวคือ ครอบครัวคนอีสานหากหมู่บ้านใดสะอาด ก็จะสะอาดไปด้วยกันทั่งหมู่บ้าน หากหมู่บ้านใดที่ยังต้องพัฒนาด้านความสะอาดก็จะคล้ายกันทั้งหมู่บ้านเช่นกัน ตลอดจนการปลูกพืชผักปลอดสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือนก็มีลักษณะไปในทิศทางเดียวกัน เราเรียกว่า เปิงบ้าน ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะนำมาต่อยอดเพื่อให้ชุมชนสะอาดมีสุขภาพดี ต้องมีอย่าง หรือบุคคลต้นแบบ ครัวเรือนต้นแบบ อันได้แก่ ผู้นำตามธรรมชาติ หรือแกนนำชุมชนทำเป็นตัวอย่างก่อน
2. ผักพื้นบ้านคือยาต้านโรค ด้วยสถานการณ์โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนโรคมะเร็ง เราพบว่า หากประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ด้านอาหาร จากเดิม คือ จากที่รับประทานเข้าเหนียวมาก ก็ทานให้น้อยลง รับประทานผักพื้นบ้านที่ปลอดสารพิษให้มากขึ้น (ผักที่ได้จากหลังบ้านสวน รับประทานผักให้ได้ถึงวันละ 5 ขีด จึงจะเป็นยาช่วยให้ร่างกายขับถ่ายเอาสารพิษต่างๆออกมากับอุจจาระในแต่ละวันได้ ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ถ้าคนรับประทานผักได้วันละ 5 ขีด จะช่วยลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคมะเร็งได้ถึง 50 % ทั้งนี้ อาหารอย่างเดียวไม่พอนะคะ จะด้อง จัดการสุขภาพให้ครบถ้วน ด้วย 4 อ. 3 ส. ฉบับนี้ถึงตรงนี้ก่อน ฉบับหน้าเราจะมาคุยกันต่อว่าภายในหมู่บ้านของเราจะจัดการสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยได้อย่างไร.
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
1 มิถุนายน 2560
ทองสุข โพนเงิน
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
|