นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์เฝ้าระวังโรค กระทรวงสาธารณสุข มีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ สูงเป็นอันดับหนึ่ง มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในเดือน พฤษภาคม สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษที่มีอาการรุนแรง คือ อาหารเป็นพิษจากพืชพิษ เห็ดพิษ และพิษจากปลาปักเป้าน้ำจืด
สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่ามีรายงานอาหารเป็นพิษจากปลาปักเป้าน้ำจืดทุกปี คือ
ปี 2559 มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ในอำเภอปทุมรัตต์
ปี 2560 เดือนพฤษภาคม มีรายงานผู้ป่วย 6 ราย ได้แก่ อำเภอทุ่งเขาหลวง 4 ราย เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หาปลาปักเป้าจากแหล่งน้ำในหมู่บ้านมารับประทาน มีอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 3 ราย ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยทั้ง 4 รายอาการดีขึ้นและกลับบ้านแล้ว /ส่วนอีก 2 ราย อยู่ในอำเภอสุวรรณภูมิ
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงฤดูฝนในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป จะมีปลาปักเป้าชุกชุม และเป็นฤดูวางไข่ของปลาชนิดนี้ ซึ่งความเป็นพิษของปลาปักเป้าจะอยู่ในเครื่องในและไข่ของปลาปักเป้า จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการกินปลาปักเป้า
อาการได้รับพิษจากการรับประทานปลาปักเป้า มีดังนี้ อาการชารอบปาก ชาริมฝีปาก ชาลิ้น เป็นอาการแรกที่บ่งบอกว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้า ต่อมามีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า ตลอดจนมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วน เนื่องจากพิษปลาปักเป้ามีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
1 มิถุนายน 2560
ทองสุข โพนเงิน/ข่าว
สุภาภรณ์ มิตรภานนท์/แหล่งข่าว
|