นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจเยี่ยมผู้ป่วย ที่ศูนย์รวมน้ำใจ ป่าโคกร้าง ตำบลสวนจิก อำเภอศรีสมเด็จ พร้อมแจง ผู้ป่วยเอดส์ สาธารณสุขร้อยเอ็ด ดูแลด้านการรักษาต่อเนื่องตลอดมาตั้งแต่เปิดศูนย์รวมน้ำใจ
จากกรณีที่มีข่าวทางหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เรื่อง สุดแร้นแค้น ! ผู้ป่วยเอดส์ 38 ชีวิต วัดดังร้อยเอ็ด วอนสังคมช่วยเหลือ ประจำวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่วัดป่าศรีมงคล หรือศูนย์รวมน้ำใจ ป่าโคกร้าง ตำบลสวนจิก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด นั้น นายปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ส่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสมเด็จ โรงพยาบาลศรีสมเด็จ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสวนจิก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ร่วมกับนายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวจากหลายสำนัก ซึ่งได้เดินทางลงไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในศูนย์ฯดังกล่าว ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคติเชื้อเอชไอวี จำนวนทั้งสิ้น ๓๘ ราย (ชาย ๒๑ หญิง ๑๗)
ด้านสาธารณสุข ผู้ป่วยในศูนย์ฯได้รับการดูแลทั้งเชิงรุกและเชิงรับจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสมเด็จ โรงพยาบาลศรีสมเด็จ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสวนจิก ต่อเนื่องตลอดมาตั้งแต่เปิดศูนย์รวมน้ำใจ อาทิเช่น การให้บริการตรวจรักษาโรค การรับยาต้านไวรัส การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค ตลอดจนการขึ้นทะเบียนสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชี้ผู้ป่วยทุกคนขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์และรับยาต้านไวรัสที่โรงพยาบาลศรีสมเด็จตามมาตรฐานและสิทธิการรักษา สรุปคือผู้ป่วยในศูนย์ฯ จะไม่มีปัญหาในเรื่องการเข้ารับการรักษาและการดูแลเรื่องสุขภาพแต่อย่างใด
นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดูแลเรื่องการจัดระบบรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้รณรงค์ให้ประชาชนที่คิดว่าตนมีพฤติกรรมเสี่ยง มารับบริการให้คำปรึกษาและตรวจหาเชื้อเอชไอวี ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้รู้สถานการณ์ติดเชื้อของตนเอง หากติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการรักษาและเริ่มให้ยาต้านไว้ฟรีทันที จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถวางแผนในการดูแลสุขภาพตนเอง และป้องกันไม่ส่งต่อเชื้อเอชไอวีไปยังผู้อื่น เป็นการหยุดแพร่การระบาดเชื้อเอชไอวีได้อีกทางหนึ่ง แต่หากผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค ก็ได้รับรักษาฟรีเช่นกัน นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาชีพ สามารถแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลที่ทำการรักษา ช่วยประสานเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพช่วยเหลือจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่อไป.
/////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |