เตือนระวังโรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา
นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ด้วยจังหวัดร้อยเอ็ด พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา จำนวน 1 ราย ทีมเฝ้าระวัง สอบสวน ควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วจังหวัดร้อยเอ็ด(SRRT) ร่วมกับทีม ในพื้นที่ได้ลงดำเนินการสอบสวน และควบคุมการระบาดอย่างเข้มข้นแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยเพิ่มเติม
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จึงขอให้ประชาชนได้ระมัดระวังและให้ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
การติดต่อ โรคไวรัสซิกา หรือไข้ซิกา ติดต่อโดยยุงลายเป็นพาหะ เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก
อาการ มีผู้ติดเชื้อราว 1 ใน 4 ที่จะแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังได้รับเชื้อ ซึ่งจะปรากฏอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ไข้ขึ้นสูง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว และปวดหัว แต่อาการเหล่านี้สามารถทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก
กลุ่มเสี่ยงคือใคร กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสซิกามากที่สุดคือ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งหากติดเชื้อแล้วจะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตรายด้วย คือจะทำให้เด็กมีศีรษะเล็กกว่าปกติ ดังนั้นจึงมีคำเตือนหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโลก หรือหากเป็นประชากรในประเทศที่มีการระบาดก็ขอให้ชะลอการตั้งครรภ์ออกไปก่อน แต่หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อทำการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้หากเป็นผู้ป่วยหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เชื้อไวรัสซิกา อาจจะทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ ซึ่งจะทำให้มีความผิดปกติที่ศีรษะ โดยจะมีกะโหลกศีรษะและสมองที่เล็กกว่าปกติ
การรักษา ผู้ป่วยควรพักผ่อนมาก ๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ ทานยาตามแพทย์สั่ง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อตัดวงจรของยุงลายพาหะนำโรคดังกล่าว นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าโรคติดเชื้อไวรัสซิกาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ต้องกลัวหรือรังเกียจผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เพราะปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังไม่มีรายงานการติดต่อจากการสัมผัส และไม่สามารถติดต่อทางลมหายใจ ซึ่งประชาชนในพื้นที่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในทุกพื้นที่นั้น ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทายากันยุง หรือผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองไว้อย่างชัดเจน ตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัส ซิกา และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
19 พฤศจิกายน 2559
ฝ่ายระบาดวิทยา สสจ.ร้อยเอ็ด..แหล่งข้อมูล/ทองสุข โพนเงิน/ข่าว
|