[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไข้ออกผื่นหรือโรคหัด (Measles)
     
 

นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า โรคไข้ออกผื่นหรือโรคหัด (Measles) อ่านว่า มี – เซิ่น พบได้บ่อยในเด็กเล็ก และสามารถพบได้กับคนทุกวัยทั้งเพศชายและหญิง นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้ ติดต่อกันได้ง่ายแพร่กระจายได้เร็ว โดยการ ไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด โดยเชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปทำให้เป็นโรคได้ซึ่งคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตมักพบในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน
อาการของโรคหัดแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะก่อนออกผื่นและระยะที่เป็นผื่น ระยะก่อนออกผื่น จะมีไข้สูง น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ตาแดง หรือตาแฉะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 วัน ก่อนที่จะออกผื่น 1-2 วัน จะสังเกตเห็นจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดง อยู่ภายในกระพุ้งแก้มส่วนบริเวณติดฟันกรามเรียกว่าตุ่ม (Koplik spots ) อ่านว่า โค- ปลิก เป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดซึ่งจะไม่พบในโรคติดเชื้ออื่นๆ ระยะออกผื่น จะเริ่มขึ้นบริเวณใบหน้าชิดขอบผม หลังใบหู ก่อนที่จะกระจายไปตามลำตัว แขน-ขา ลักษณะผื่นเป็นแบบนูนแดง อาจติดกันเป็นปื้นๆใหญ่ ไม่คัน เมื่อผื่นขึ้นประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นในระยะแรกมีสีแดง ต่อมามีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง ประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะจางหายไป
การรักษา รักษาตามอาการถ้าไข้สูงให้ยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะนอกจากรายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่นปอดอักเสบ หูอักเสบ ให้อาหารอ่อนและวิตามินเสริมโดยเฉพาะวิตามินเอซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้วิตามินเอแก่เด็กที่เป็นโรคหัดทุกราย การให้วิตามินเอเสริมแก่เด็กที่เป็นโรคหัดจะช่วยลดอัตราตายจากโรคหัดลงได้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การป้องกันโรคหัดคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย แยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดประมาณ 4 วันหลังผื่นขึ้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เด็กเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เด็กที่เคยฉีดวัคซีนมาเพียงครั้งเดียวเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลงอาจทำให้เป็นโรคหัดได้ หากมีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะมาก ทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ควรรีบนำส่งแพทย์ทันที

ธัญชนก วงษ์หาญ/ภาพและข่าว
ทองสุข โพนเงิน/หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (192.168.11.*)  11/11/2016 04:34 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later