[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


เตือน !!! พิษร้ายจากปลาปักเป้า
     
 

สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เตือน !!! พิษร้ายจากปลาปักเป้า

นายปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน พบจังหวัดร้อยเอ็ด มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากการกินปลาปักเป้า ๑ ราย จึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชนมาก เพราะในช่วงหน้าฝนจะมีปลามากมายให้รับประทาน โดยเฉพาะการรับประทานปลาปักเป้าหากรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้ถึงแก่เสียชีวิตได้

ปลาปักเป้า มีทั้งปลาปักเป้าน้ำจืดและปลาปักเป้าน้ำเค็ม สารพิษที่อยู่ในปลาปักเป้าน้ำจืด คือ ซาซิท็อกซิน(Saxitoxin) ส่วนสารพิษที่อยู่ในปลาปักเป้าน้ำเค็ม คือ เทโตรโดท็อกซิน(Tetrodotoxin) การออกฤทธิ์ของซาซิท็อกซินจะคล้ายกับเทโตรโดท็อกซิน แต่จะรุนแรงมากกว่า โดยส่วนที่มีพิษสูงที่สุดของปลาปักเป้า คือ ตับ รังไข่ เครื่องใน รองลงมา คือ หนังปลาและเนื้อปลา ตามลำดับ สารพิษนี้จะทนต่อความร้อนสูงมาก ดังนั้น การทำให้สุกก่อนกินจึงไม่สามารถทำลายพิษได้ ผู้ที่กินปลาปักเป้าเข้าไป มักจะเกิดอาการหลังจากกินประมาณ ๓๐ นาที พิษจากปลาปักเป้าจะมีผลต่อระบบกล้ามเนื้อและประสาท

อาการ ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการกินปลาปักเป้า แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ตามความรุนแรงของอาการทางคลินิก ดังนี้

ขั้นที่ ๑ จะมีอาการชารอบปาก ริมฝีปาก และลิ้น เป็นการบ่งบอกว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้าแล้ว ต่อมามีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า อาการอื่นๆที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
ขั้นที่ ๒ มีอาการชามากขึ้น แขนขาอ่อนแรงจนยืนหรือเดินไม่ได้
ขั้นที่ ๓ มีอาการอ่อนแรงมาก ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนขาได้ตามต้องการ กล้ามเนื้อควบคุมการพูดและการกลืนอ่อนแรง ทำให้พูดลำบาก กลืนลำบาก ยังรู้สติดี
ขั้นที่ ๔ กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากทั่วทั้งตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ มีอาการหายใจลำบาก ทำให้หมดสติได้ ผู้ที่มีอาการหนักมากตรวจร่างกายพบว่ารูม่านตาขยายโต ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ไม่สามารถกลอกตาไปมาได้ อาจมีความดันเลือดต่ำมาก และเสียชีวิตจากระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือดล้มเหลว

การรักษา การเกิดพิษจากการกินปลาปักเป้า จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ แพทย์จะต้องให้การวินิจฉัยและการรักษาอย่างรีบด่วน ถ้าล่าช้าผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการหายใจล้มเหลว จนเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนไม่สามารถฟื้นคืนสติได้เป็นปกติ ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการและอาการที่แสดงบ่งบอกว่าได้รับพิษ จะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะอาการของผู้ป่วยในบางรายอาจจะทรุดลงได้อย่างรวดเร็ว จากขั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๔ ภายในเวลา ๓๐ นาที การรักษาจะเป็นแบบประคับประคองไปจนกว่าพิษจะละลายหมด เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือให้ยาเพิ่มความดันเลือด เนื่องจากยังไม่มียาแก้พิษที่จำเพาะเจาะจง พบว่า ระยะเวลาเฉลี่ยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนานไม่เกิน ๒๔ ชั่วโมง ระยะเวลานอนโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ ประมาณ ๑ – ๒ วัน ส่วนขั้นที่ ๓ และขั้นที่ ๔ ประมาณ ๓-๕ วัน.
/////////////////////////


สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๙


พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (146.88.38.*)  21/06/2016 12:30 AM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later