เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๙ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ประกาศเกียรติคุณองค์กรปลอดโฟม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายด้านสุขาภิบาลอาหาร ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร พร้อมกับมอบประกาศเกียรติคุณแก่ ๘๒๙ องค์กรปลอดโฟม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และสำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด มีหน่วยงานราชการรับมอบเกียรติบัตรองค์กรปลอดภาชนะโฟมบรรจุอาหาร ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด และโรงพยาบาลพนมไพร
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลัก ในการรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ด้วยเห็นว่า โฟม ที่ใช้บรรจุอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติกโพลีสไตรีน เมื่อสัมผัสกับความร้อนและไขมันในอาหาร ทำให้มีสารเคมีปนเปื้อนสู่อาหาร สารเคมีที่พบในโฟมบ รจุอาหารประกอบด้วย ๑) สารสไตรีน Styrene เป็นสารก่อมะเร็งที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิง มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก และเกิดโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ทำให้ระบบฮอร์โมนผิดปกติ มีปัญหาต่อมไทรอยด์และประจำเดือนในสตรี ๒) เบนซิน มีคุณสมบัติละลายได้ดีในน้ำมัน ซึ่งส่งผลต่อร่างกายเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง การได้รับเบนซินเป็นเวลานานจะมีผลทำให้เป็นโรคโลหิตจาง Anemia เนื่องจากเบนซินจะทำลายไขกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลง และ ๓) พทาเลท Phthalate เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้เป็นหมันในผู้ชาย หญิงมีครรภ์อาจให้กำเนิดลูกที่มีอาการดาวน์ (Down Sysdrome)
กรมอนามัย ได้กำหนดกลยุทธ์ ในการลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย โดยกำหนดพื้นที่ปลอดการใช้โฟมบรรจุอาหาร นำร่องให้ทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีการใช้โฟมบรรจุอาหารให้ใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย กล่องกระดาษ หรือกล่องพลาสติกชีวภาพ และในปี ๒๕๕๙ ได้ขยายพื้นที่การรณรงค์ ไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ หน่วยงานราชการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินองค์กรหรือพื้นที่ปลอดโฟม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือ องค์กรหรือพื้นที่มีการกำหนดนโยบาย สนับสนุนและส่งเสริมการลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร มีการบริหารจัดการและการประชาสัมพันธ์การรณรงค์ มีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนโฟมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และต้องเลิกใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารมาอย่างน้อย ๓ เดือนติดต่อกัน ในปี ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นปีแรกที่หลายองค์กรเข้ามาร่วมรณรงค์ฯ มีองค์กรที่ผ่านการประเมินเป็นองค์กรปลอดโฟม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จำนวน ๘๒๙ องค์กร มีพื้นที่ปลอดโฟมจำนวน ๑๒,๘๘๘ แห่งทั่วประเทศ
องค์กรที่ผ่านการประเมินเป็นองค์กรปลอดโฟม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในปี ๒๕๕๙นี้ ก็จะเป็นองค์กรต้นแบบ ในการรณรงค์ในปี ๒๕๖๐ ที่จะขยายให้ครอบคลุมในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เช่น หน่วยงานภาครัฐที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา โรงเรียน ชุมชน อำเภอ จังหวัด ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร Franchise สถานีบริการน้ำมัน ศูนย์อาหาร ถนนอาหาร และตลาดสด เป็นต้น.
/////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๖ มิถุนายน ๒๕๕๙
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
|