ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก โดย นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 21 มกราคม 2559
* * * * * * * * * * * * * * *
1. จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1-19 มกราคม2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 2,380 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 31.4 แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันมีการระบาดในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะนักเรียนไปจนถึงวัยทำงาน จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ นครปฐม ภูเก็ต พิจิตร ศรีสะเกษ และสงขลา (สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั้งปี พ.ศ. 2558 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 142,925ราย เสียชีวิต 141 ราย)
2. ผลการวิเคราะห์และพยากรณ์โรคไข้เลือดออก คาดว่าปี พ.ศ. 2559 จะมีผู้ป่วยประมาณ 166,000 ราย โดยจะพบผู้ป่วย 5,000-7,500 รายต่อเดือน และสูงขึ้นในฤดูฝนช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. อาจมากกว่า 25,000 รายต่อเดือน อำเภอที่เสี่ยงต่อการระบาดสูงทั้งสิ้น 228 อำเภอ ใน 56 จังหวัด กระจายอยู่ทุกภาค
3. อาการหรือสัญญาณอันตรายของไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร อาเจียน เมื่อกินยาลดไข้แล้วไข้มักจะไม่ลดลง หรืออาจลดลงชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก
4. วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกอยู่ในช่วงการเริ่มทดลองใช้ และกำลังขออนุญาตจาก อย. โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประครอง ดังนั้น การเฝ้าสังเกตอาการจึงมีความสำคัญ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ได้แก่ ไข้สูงติดต่อกัน 2 วัน ไข้ไม่ลด ซึม อาเจียน กินอาหารไม่ได้ และมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ให้รีบมาพบแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด และในกลุ่มเสี่ยง เช่น คนอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงมีประจำเดือน ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
5. หากมีไข้สูง อย่าซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิด แม้มีฤทธิ์ในการลดไข้ได้ดี แต่ตัวยาเองมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกได้ง่าย ยาลดไข้ที่ใช้ คือ ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ต้องรีบไปพบแพทย์
6. ยุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นยุงที่อยู่ในบ้าน อาศัยอยู่ในบ้าน ในสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ดังนั้นวิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออก คือ หลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด กำจัดยุงตัวแก่และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและรอบบ้าน โดยหมั่นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
7. การป้องกันโรคไข้เลือดออก คือ วิธีการลดจำนวนตัวยุงลายตัวแก่อย่างได้ผลดีที่สุด คือ 3 เก็บ ได้แก่ 1) เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย โปรดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบให้เป็นที่เกาะพักของยุง 2) เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบๆ บ้าน ที่ทิ้งไว้ แม้กระทั่ง ใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย และ 3) เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
8. การป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือวิธีป้องกันยุงโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
9. กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ ดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง โรคไข้เลือดออก จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 3,024 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 25 จังหวัด ในเดือนพฤศจิกายน 2558 พบว่า ประชาชนมีความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยร้อยละ 98.8 รับรู้ว่าลูกน้ำยุงลายเป็นพาหะไข้เลือดออก, ร้อยละ 97.4 รู้ว่าผู้ใหญ่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ รวมถึงหากมีอาการไข้สูงลอย ซึม เบื่ออาหาร มีจุดเลือดออกตามแขนขา (อาการของโรคไข้เลือดออก) ร้อยละ 96.9 ตอบว่าควรรีบไปพบแพทย์ มีเพียงร้อยละ 0.8 ที่ตอบว่าปล่อยให้หายเอง สำหรับพฤติกรรมการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชนยังอยู่ในระดับระดับปานกลาง ซึ่งเห็นได้จากวิธีการจัดการลูกน้ำยุงลายในชีวิตประจำวันปฏิบัติเป็นประจำ เช่น การปิดฝาโอ่งหรือถังน้ำเพื่อป้องกันยุงลงไปวางไข่มีประชาชนเพียงร้อยละ 33.6, การใส่ทรายกำจัดลูกน้ำมีเพียงร้อยละ 24.3 ส่วนการเปลี่ยนน้ำในแจกันมีเพียง ร้อยละ 40
*** รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 41.5 ยังมีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรเป็นกำลังหลัก ในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก***
10. ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
Cr.สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/thaivbd/posts/1233393293343497
/////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๑ มกราคม ๒๕๕๙
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
|