สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เร่งดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น
นายปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวสารการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งความรุนแรงของโรคอาจทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการทำงานกับกระทรวงมหาดไทย ตั้งวอร์รูมควบคุมโรคไข้เลือดออกทุกจังหวัด สนับสนุนเจ้าหน้าที่อุปกรณ์ ขอความร่วมมือ สถานศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้แจ้งถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของเขตสุขภาพที่ ๗ (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๘ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ มีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น ๕,๓๘๖ ราย เสียชีวิต ๓ ราย จังหวัดร้อยเอ็ด มีอัตราป่วยสูงเป็นอันดับที่หนึ่งของเขต แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก แต่ก็ยังห่วงใยในสุขภาพของประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ดทุกกลุ่มวัย เพราะจังหวัดร้อยเอ็ดมีโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นในทุกฤดูกาล จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ โรงพยาบาลทุกแห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง เร่งดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น เพื่อลดความรุนแรงของโรค ไม่ให้ระบาดไปในวงกว้าง ดังนี้
๑.ติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่รับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
๒.ร่วมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้เลือดออก (วอร์รูม War Room) เพื่อการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด
๓.ดำเนินการให้โรงพยาบาล เมื่อพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแม้เพียงสงสัย ให้แจ้งไปยังทีมควบคุมโรคภายใน ๑ วัน เพื่อให้เกิดการควบคุมโรคที่ทันเวลา
๔.ด้านการรักษา ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะอ้วน สตรีมีประจำเดือน ผู้ป่วยโรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย โดยเน้นการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว การเฝ้าระวังอาการช็อค และการรักษาด้วยสารน้ำที่ถูกต้อง
๕.การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบถึงสถานการณ์ไข้เลือดออกที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความตระหนักและให้ความร่วมมือในการควบคุมโรค รวมทั้งให้คำแนะนำในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การป้องกันยุงกัด และอาการที่สำคัญต้องไปพบแพทย์
๖.ติดตามและควบคุมลูกน้ำยุงลายในสถานที่สาธารณต่างๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลและบ้านพักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยให้ใช้มาตรการ ๖ ป. ๑ ข. ได้แก่ :
- ป. ที่หนึ่ง ปิดภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักน้ำมาใช้ทุกครั้ง
- ป. ที่สอง เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุกๆ 7 วัน
- ป. ที่สาม ปล่อยปลากินลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่ใส่น้ำถาวร
- ป. ที่สี่ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
- ป. ที่ห้า ปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
- ป. ที่หก คือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด
และ ๑ ข. คือ ขัดไข่ยุงลาย บริเวณขอบภาชนะ โดยใช้ใยขัดหรือแปรงขัดชนิดนุ่ม แล้วเทน้ำขัดล้างลงบนพื้นดิน ปล่อยให้ไข่แห้งตาย
///////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
|