สาสุขร้อยเอ็ด เดินหน้า พัฒนาหมู่บ้านต้นแบบสุขภาพดี วิถีพอเพียง หวังประชาชน ป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงลดลง
นายปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เผยถึงสถานการณ์โรควิถีชีวิตที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ ส่งผลให้คนมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง แต่ก็สามารถป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยได้ ขอเพียงปรับพฤติกรรมสุขภาพตามหลัก ๓ อ. ๒ ส.
จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยพฤติกรรมสุขภาพ จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องมากที่สุดและเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากที่สุด คือ พฤติกรรมการกินเค็ม สูงถึง ร้อยละ ๗๐.๐๙ รองลงมา คือพฤติกรรมการกินผลไม้หวาน เครื่องดื่มรสหวาน ร้อยละ ๖๑.๔๘ และพฤติกรรมการกินอาหารไขมันสูง ร้อยละ ๕๓.๔๔ ส่วนพฤติกรรมด้านบวกที่ไม่ปฏิบัติและเป็นปัญหาอย่างงยิ่ง คือ การกินผักวันละ ๕ ขีด พบว่า ร้อยละ ๗๔.๐๔ ยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแกนนำชุมชน จัดให้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของหมู่บ้านต้นแบบสุขภาพดีวิถีพอเพียง จำนวน ๒๐ อำเภอๆละ ๑ หมู่บ้าน รวม ๒๐ อำเภอ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปเป็นแบบอย่างในกระบวนการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบสุขภาพดีของภาคีเครือข่าย เป็นการต่อยอดจากโครงการเฉลิมพระเกียรติ ๕๗ พรรษา มหาวชิราลงกรณ : หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒ มีเป้าหมายในการดำเนินงาน สถานบริการสุขภาพละ ๓ หมู่บ้าน รวมมีหมู่บ้านต้นแบบที่ดำเนินการ ๗๔๔ หมู่บ้าน เพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ตามหลัก ๔ อ. ๓ ส. เฉพาะในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด อันประกอบด้วย อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม ส่วน ๓ ส. ประกอบด้วย ลด ละเลิก สุรา ยาสูบ และสร้างเสริมสุขภาพด้วยสุขบัญญัติแห่งชาติ ๑๐ ประการ ผลการดำเนินงานทำให้ปัจจุบัน มีหมู่บ้านต้นแบบสุขภาพดีที่สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ได้ถึง ๑๗๕ หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๖๖ ผลการประเมินหมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี และระดับดีมาก ร้อยละ ๔๐.๘๒ และ ร้อยละ ๓๖.๐๘ ตามลำดับ
นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ประการสำคัญที่เป็นผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพในหมู่บ้านต้นแบบสุขภาพดี วิถีพอเพียง คือ กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงลดลง ผู้ป่วยรายใหม่ทั้งสองโรคลดลง ทั้งยังพบว่ามีหมู่บ้านที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคเบาหวาน ๓ ปี ติดต่อกัน ๑๙ หมู่บ้าน หมู่บ้านที่ไม่มีรายงานโรคความดันโลหิตสูง ๓ ปีติดต่อกัน ๒๓ หมู่บ้าน และหมู่บ้านที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยทั้งสองโรคติดต่อกัน ๓ ปี ๘ หมู่บ้าน นับว่าเป็นผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการนี้ โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วน.
////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๕ กันยายน ๒๕๕๘
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |