ปัจจุบันนับว่าเป็นยุคทองของโทรศัพท์มือถือที่เฟื่องฟู นับวันการตลาดของสมาร์ทโฟนมีแข่งขันกันออกรุ่นใหม่มากขึ้น มีนวัตกกรรมใหม่ๆและการพัฒนาการใช้งานตามความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น เรียกได้ว่าจะทำธุรกรรมใดๆก็สามารถทำได้ในมือถือไม่ว่าจะทำธุระทางการเงินเช่นการโอนเงิน ฝาก ถอน หรือชำระหนี้ สามารถทำได้ทั้งนั้น ติดต่อโรงพยาบาล โรงเรียน โรงพัก จับจ่ายซื้อของ พูดคุย พบปะ ดูข่าว ดูหนัง ฟังเพลง ติดต่อการค้าการขาย ทั้งในและนอกประเทศ สื่อสารถึงกันได้หมดสามารถย่อโลกให้เล็กลงและใกล้กันมากขึ้น เรียกได้ว่าโทรศัพท์มือถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะขาดไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีทุกคน และเมื่อมีการใช้โทรศัพท์มากขึ้นผู้คนมักจะพูดคุยกันน้อยลง ในแต่ละวันจะก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือบางคนเล่นเป็นชั่วโมงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อเล่นโทรศัพท์บ่อยๆและนานๆจึงทำให้เกิดโรค ติดมือถือ หรือโรค โนโมโฟเบีย ขึ้น ซึ่งถือเป็นโรคสมัยใหม่ที่ YouGov องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร ได้บัญญัติศัพท์คำนี้ออกมา อาการของโรคคือหมกมุ่นอยู่กับการเช็คมือถือตลอดเวลา กังวลว่ามือถือจะหายต้องวางใกล้ๆเพื่อเอื้อมหยิบได้ง่าย ใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากกว่าการสนทนากับคนรอบข้าง ก่อนทานอาหารต้องถ่ายรูปเพื่อโพสต์ลงโซเชียลเน็ตเวิร์ค โพสต์รูปและความรู้สึกลงในไลน์หรือเฟสบุ๊คตลอดเวลา วันละหลายครั้ง มีความเครียดเมื่ออยู่ในจุดอับสัญญาณ มีความกังวลเมื่อแบตเตอรี่หมด เพราะกลัวที่จะไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับใครๆได้
โรคติดมือถือ เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการปวดเมื่อยตามคอ บ่า ไหล่ ซึ่งถือเป็นอาการลำดับต้นๆ เกิดจากการนั่งเกร็งนานๆ ตัวงองุ้ม ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ประสาทตาล้ามีอาการตาแห้ง เมื่อเป็นนานๆเข้าจะทำให้ประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้น เมื่อใช้มือจิ้มหน้าจอบ่อยๆทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค นิ้วชา ปวดข้อมือ มือแข็ง กำมือไม่ได้ เมื่อนั่งนานๆจะทำให้ลำไส้ไม่เคลื่อนไหว ย่อยยาก ท้องอืด ลำไส้อ่อนแรง มีการพอกพูนของไขมันบริเวณหน้าท้อง ตะโพก ต้นขา ทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา จิตแพทย์แนะนำว่าหากมีความรู้สึกว่าติดมือถือ ลองรักษาด้วยตัวเองก่อน เริ่มจากลองใช้ชีวิตแบบไม่มีมือถือ ใช้มือถือเฉพาะเวลาที่จำเป็น หากรู้สึกเหงา ให้เดินไปคุยกับคนใกล้ๆ คุยกับคนในบ้าน เพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น ช่วงวันหยุดลองไม่หยิบโทรศัพท์มือถือมาดู หางานอดิเรกทำ อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ปิดมือถือเมื่อเข้านอน แต่หากว่าทำแล้วรู้สึกว่าไม่สามารถอยู่ห่างจากมือถือได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
ธัญชนก วงษ์หาญ/บทความและภาพ
ทองสุข โพนเงิน/หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |