[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


สา’สุขร้อยเอ็ด เตือนสองเดือนอันตรายไข้เลือดออก
     
 

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก จำนวนผู้ป่วยสะสม ๕๕,๔๒๘ ราย ภาคกลางพบผู้ป่วยมากเป็นอันดับ ๑ จำนวน ๒๕,๕๒๙ ราย รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๑๔,๑๐๙ ราย สถานการณ์โรคไข้เลือดออกเครือข่ายบริการเขตสุขภาพที่ ๗ (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์) มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน ๒,๘๕๔ ราย เสียชีวิต ๒ ราย (จ.มหาสารคาม และ จ.ขอนแก่น)พบผู้ป่วยทุกจังหวัด จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ มีจำนวน ๙๕๖ ราย อำเภอที่มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด ๕ อันดับแรก คือ จตุรพักตรพิมาน เมืองสรวง เกษตรวิสัย หนองฮี และสุวรรณภูมิ

นายแพทย์บุญมี โพธิ์สนาม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายนของทุกปี เป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง จึงขอความร่วมมือมายังประชาชนทุกครอบครัว และฝากย้ำถึงผู้นำชุมชน ร่วมสนับสนุนมาตรการ ๕ ป. ๑ ข. ได้แก่

๑.เปลี่ยน : เปลี่ยนน้ำ ในแจกัน/ถังเก็บน้ำ ทุก ๗ วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
๒.ปิด : ปิดภาชนะ น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักใช้น้ำทุกครั้งเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
๓.ปล่อย : ปล่อยปลาหางนกยูงกินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว, ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีในบ้าน ในโรงเรียน
๔.ปรับปรุง : ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
๕.ปฏิบัติเป็นประจำ : ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย
และ ๑ ข. : ขัดไข่ยุงลาย เนื่องจากยุงลายจะไข่เหนือระดับน้ำ ๑-๒ เซนติเมตรเมื่อมีน้ำมาเติมจนท่วมหลังไข่ จะฟักตัวเป็นลูกน้ำ แต่หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วม ก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้น เมื่อมีน้ำมาท่วมเมื่อใด ไข่ก็พร้อมแตกตัวเป็นลูกน้ำภายใน ๓๐ นาที ซึ่งยุงตัวเมีย ๑ ตัว จะไข่ครั้งละ ๕๐ -๑๕๐ ฟอง ๔-๖ ครั้ง ในช่วงชีวิตประมาณ ๖๐ วันของยุง ฉะนั้น ยุงตัวหนึ่งจะมีลูกได้ราว ๕๐๐ ตัว จึงจำเป็นต้องมีการขัดไข่ยุงลายในภาชนะ โดยใช้ใยขัดล้าง หรือแปรงชนิดนุ่มช่วยในการขัดล้าง และทิ้งน้ำที่ขัดล้างนั้นบนพื้นดิน เพื่อให้ไข่แห้งตาย ไม่ควรทิ้งลงท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งน้ำใสนิ่ง ทำให้ไข่บางส่วนรอดและเจริญเป็นลูกน้ำและยุงลายได้

จึงขอความร่วมมือให้ทุกครัวเรือน ร่วมกันปฏิบัติเป็นประจำ จึงจะสามารถป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกได้

“ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก สามารถสังเกตอาการได้ง่ายๆ คือ มีไข้สูง แต่ไม่มีอาการไอ จาม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดง ตามแขน หากคนในครอบครัวของท่านมีอาการดังกล่าว ให้รีบพาไปพบแพทย์ ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด” นายแพทย์บุญมี กล่าวในที่สุด.
//////////////////////////////////////////////



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๘



พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (192.168.11.*)  28/08/2015 02:29 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later