ช่วงฤดูฝนของทุกปีมักพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต เนื่องจากการกินเห็ดเป็นประจำ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุเกิดจากการเก็บเห็ดในป่าธรรมชาติมารับประทาน โดยเข้าใจผิดคิดว่าเห็ดที่เก็บมาเป็นเห็ดชนิดกินได้ ซึ่งเห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตคือ เห็ดระโงก เห็ดไข่ตายซาก (ภาษาอีสาน) หรือเห็ดโม่งโก้ง เห็ดไข่ห่าน (ภาษาเหนือ) ซึ่งเป็นเห็ดพิษในตระกูลอะมานิตา (Amanita) มีสารพิษที่ทนต่อความร้อนได้ จึงเตือนพี่น้องประชาชนทุกคนที่เก็บเห็ดหรือซื้อเห็ดมารับประทานให้รับประทานเห็ดที่แน่ใจว่ากินได้ หลีกเลี่ยงเห็ดป่าที่ไม่รู้จัก โดยเฉพาะเห็ดระโงกหรือเห็ดไข่ห่านและเห็ดไครที่มีพิษ เพื่อป้องกันมิให้รับประทานเห็ดมีพิษเข้าไปอันอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นายแพทย์บุญมี โพธิ์สนาม นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รักษาราชการแทน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ช่วงนี้ฤดูฝนมีเห็ดป่าเกิดขึ้นมากตามธรรมชาติ มีชาวบ้านเก็บเห็ดมากิน มาขายเป็นจำนวนมาก และมักมีผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษทุกปี ซึ่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจังหวัดร้อยเอ็ดพบผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษจำนวน ๔ ราย ที่อำเภอธวัชบุรีและอำเภอศรีสมเด็จ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษจำนวน ๖ ราย โดยส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม
สำหรับการป้องกันคือ ให้รับประทานเห็ดที่แน่ใจว่าทานได้ หลีกเลี่ยงเห็ดป่าอ่อนที่มีลักษณะดอกตูมๆ เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่ามีพิษหรือไม่เพราะลักษณะภายนอกเหมือนกันหมด ห้ามรับประทานเห็ดร่วมกับแอลกอฮอล์ เพราะหากเป็นเห็ดมีพิษจะทำให้พิษกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว และมีอาการรุนแรงกว่าปกติ หากกินเห็ดมีพิษเข้าไปแล้วมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหรือถ่ายอุจจาระเหลว การช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารตกค้างออกให้มากที่สุด อาจล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาวแล้วส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว.
ธัญชนก วงษ์หาญ/ข่าว
ทองสุข โพนเงิน/หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |