[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


เตือน ! หน้าฝน ระวังการระบาดโรคมือ เท้า ปาก
     
 

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส ๗๑ นับเป็นโรคที่ระบาดในเด็กโรคหนึ่ง ที่พบทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าฝนเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้สูง เป็นโรคที่พ่อแม่จะต้องระวังให้มาก เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและในโรงเรียน และอาการของโรคมือ เท้า ปาก ก็คล้ายกับโรคหวัดจนพ่อแม่ไม่ทันสังเกตถึงความรุนแรง จนบางครั้งกว่าจะรู้และรักษาให้หาย เด็กก็อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก กันไว้เพื่อหาทางป้องกัน ดูแล และรักษาให้ทันท่วงที

นายสุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เผยถึงสถานการณ์ โรค มือ เท้า ปาก(Hand Foot Mouth Disease หรือ HFMD) จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ พบว่า มีรายงานผู้ป่วย จำนวน ๑๕๘ ราย อัตราป่วย ๑๒.๐๗ ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วยเดือนมกราคม – มิถุนายน ๒๕๕๘ ใกล้เคียงกับค่ามัธยฐาน ๕ ปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด อายุ ๑-๒ ปี (ร้อยละ ๕๕.๐๖) รองลงมา คือ อายุ ๓-๔ ปี (ร้อยละ ๓๒.๒๘) และอายุน้อยกว่า ๑ ปี (ร้อยละ ๖.๓๓)

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส ๗๑ นับเป็นโรคที่ระบาดในเด็กโรคหนึ่ง ที่พบทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าฝนเป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้สูง เป็นโรคที่พ่อแม่จะต้องระวังให้มาก เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้านและในโรงเรียน และอาการของโรคมือ เท้า ปาก ก็คล้ายกับโรคหวัดจนพ่อแม่ไม่ทันสังเกตถึงความรุนแรง จนบางครั้งกว่าจะรู้และรักษาให้หาย เด็กก็อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก กันไว้เพื่อหาทางป้องกัน ดูแล และรักษาให้ทันท่วงที

อาการ มักเริ่มด้วยอาการไข้ เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน และมีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขา ผู้ป่วยมักมีอาการมากอยู่ ๒-๓ วัน จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายใน ๑ สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก แต่บางรายมีอาการมากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้ โดยปกติโรคนี้ไม่น่ากลัว และหายเองโดยไม่มีปัญหา แต่อาจมีโอกาสเล็กน้อยที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือพบปัญหาแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้ออีวี ๗๑ จะมีโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มากขึ้น

ปัญหาแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุด คือ ก้านสมองอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหายใจและระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว ซึ่งถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งเชื้ออีวี ๗๑ อาจทำให้เกิดสมองอักเสบรุนแรงได้ โดยไม่ต้องมีผื่นแบบ มือ เท้า ปากก็ได้ เด็กที่จะมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงหรือสมองอักเสบ จะมีสัญญาณอันตรายได้แก่ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

การระบาด ในประเทศไทย ในขณะนี้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ดีต้องระวังอาการรุนแรงไว้ด้วย แม้จะมีโอกาสเกิดน้อยก็ตาม

การรักษา ไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยวิกฤต

การติดต่อ โดยการสัมผัส น้ำมูกน้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคนี้จึงมักระบาดในโรงเรียนชั้นอนุบาลเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก

การป้องกัน แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคมิให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น เด็กทุกคนรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก ควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หมั่นทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาชะล้างทำความสะอาดทั่วไป แล้วทำให้แห้ง ควรระมัดระวังในความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของทุกๆ อย่างที่เด็กอาจเอาเข้าปาก ไม่ให้เด็กใช้ของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย หรืออุปกรณ์การรับประทานร่วมกัน ควรสอนให้เด็กๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ในช่วงที่มีการระบาด ไม่ควรนำเด็กไปในที่ที่มีเด็กอื่นอยู่รวมกันจำนวนมาก เพราะจะมีโอกาสรับเชื้อได้โดยที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมากที่อาจไปอยู่รวมกัน.
//////////////////////////////////////


สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘


พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (192.168.11.*)  8/07/2015 02:19 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later