[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


สา’สุขร้อยเอ็ด สร้างแกนนำครอบครัวประคับประคองในชุมชน เพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
     
 

สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จัดอบรมแกนนำประคับประคองในชุมชน โครงการเครือข่ายประคับประคองเพื่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประดับแก้ว โรงแรมเพชรรัชต์ การ์เด้น ร้อยเอ็ด นายสุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมแกนนำประคับประคองในชุมชน โครงการเครือข่ายประคับประคองเพื่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนางอาภรณ์ ประชุมวรรณ หัวหน้าฝ่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้กล่าวรายงาน

นางอาภรณ์ ประชุมวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขด้านสุขภาพ ที่ได้เร่งรัดการดำเนินการระบบสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิต เพื่อให้ช่วงชีวิตกลุ่มวัยเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้ทำโครงการเครือข่ายประคับประคองเพื่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จังหวัดร้อยเอ็ดขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายและสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย อย่างเป็นรูปแบบครอบคลุมทุกโรงพยาบาลชุมชนในปี ๒๕๕๗ จากการดำเนินงานปัจจุบัน จังหวัดร้อยเอ็ด มีศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นหน่วยงานของโรงพยาบาล ร้อยละ ๑๐๐ พยาบาลประสานงานศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายผ่านการอบรมด้าน Palliative care ไม่ต่ำกว่า ๔ สัปดาห์ ร้อยละ ๑๐๐ โรงพยาบาลมีคลินิกผู้ป่วยนอกเพื่อติดตามผู้ป่วยระยะสุดท้าย ร้อยละ ๗๕ แต่ยังพบปัญหาสำคัญ คือ การเข้าถึงยาระงับความเจ็บปวด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องหารือร่วมกันต่อไป

การจัดอบรมแกนนำประคับประคองในชุมชน นับว่าสำคัญมาก เพราะจะได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระหว่างเครือข่าย ระบบข้อมูลการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในฐานข้อมูล ๔๓ แฟ้ม และการบันทึกข้อมูลในโปรแกรม E-claim ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ควรมีการเรียนรู้ร่วมกัน ให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพเครือข่าย ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานที่ได้มีความเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ตลอดมา ผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศหรือผู้ลงข้อมูล เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลทุกแห่ง และผู้รับผิดชอบงานจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนำร่อง อำเภอละ ๑ คน รวมทั้งสิ้น ๑๐๐ คน ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากโรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลเกษตรวิสัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ผู้ที่ปฏิบัติงานด้าน Palliative care นับว่าเป็นผู้ที่ได้บุญเยอะ เพราะการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อโรคเข้าสู่ระยะท้ายผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะทนทุกข์ทรมาน แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลและมีค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลับไม่ดี มีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับการรักษาที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ แต่กลับสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยและญาติ จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่ทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมหาแนวทางในการเยียวยาร่วมกันโดยเฉพาะการดูแลในชุมชน ซึ่งต้องอาศัยทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็น การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่เรื่องใหม่เนื่องจากในพื้นที่มีการดำเนินงานอยู่ก่อนแล้ว แต่อาจยังมีบางพื้นที่ที่มีการดำเนินงานยังไม่เป็นระบบ ไม่มีเครือข่าย.
//////////////////////////////



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘



พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (192.168.11.*)  23/06/2015 02:13 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later