[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


สา’สุขร้อยเอ็ด พัฒนาศักยภาพแกนนำทีมผู้ก่อการดี ลดปัญหาการเสียชีวิตจากจมน้ำ
     
 

สาธารณสุขร้อยเอ็ด พัฒนาศักยภาพแกนนำทีมผู้ก่อการดี ระดับอำเภอ รุ่นแรก จังหวัดร้อยเอ็ด หวังลดปัญหาการเสียชีวิตจากการจมน้ำ

เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายสุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพแกนนำทีมผู้ก่อการดี ระดับอำเภอ จังหวัดร้อยเอ็ด ปี ๒๕๕๘ รุ่นที่ ๑ ณ ห้องประชุมฮอลล์ ๑ โรงแรมวันโอวัน คลาสสิคอินน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจัดขึ้นเป็นระยะเวลา ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ เมษายน ๒๕๕๘

นางสาวสุภาภรณ์ มิตรภานนท์ หัวหน้าฝ่ายระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจาก การตกน้ำจมน้ำ ในประเทศไทย แต่ละปีมีกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำเกือบ ๑,๓๕๒ คน (ค่าเฉลี่ยปี ๒๕๔๕-๒๕๕๔) หรือเกือบวันละ ๔ คน นับว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทย ซึ่งสูงมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคอื่นๆในทุกสาเหตุ ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กที่จมน้ำจะเสียชีวิต (ร้อยละ ๔๑.๐)

จังหวัดร้อยเอ็ด รายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ ปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๗ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี ๒๕๕๖ มีเด็ก ๐-๑๕ ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำ ๒๐ ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิต ๘.๖ ต่อแสนประชากร ตามเกณฑ์กำหนดพื้นที่เสี่ยงของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ ดังนั้น จึงกำหนดมาตรการ ให้จังหวัดร้อยเอ็ด ดำเนินงานตามมาตรการลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็ก โดยการสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันการจมน้ำ เน้นในกลุ่มเด็ก ๐-๑๕ ปี ภายใต้ชื่อ “ทีมผู้ก่อการดี (Merit Marker)” เป็นการพัฒนาศักยภาพแกนหลักทีมผู้ก่อการดี (Merit Marker) ระดับอำเภอ ได้แก่ สหสาขาวิชาในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำจมน้ำในชุมชนและโรงเรียน รวมถึงสามารถขยายผลในพื้นที่เสี่ยง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้าอบรมประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานระบาดวิทยาและ SRRT ใน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน ครูในโรงเรียน และครูพี่เลี้ยงเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่นำร่อง ตัวแทน อบต. อพ.ปร. อสม. ผู้นำชุมชน และกู้ชีพ ในพื้นที่นำร่อง จำนวน ๑๑ อำเภอ ดังนี้ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ เกษตรวิสัย เมืองสรวง พนมไพร ศรีสมเด็จ เสลภูมิ เชียงขวัญ โพธิ์ชัย ทุ่งเขาหลวง และหนองฮี รวมทั้งสิ้น ๗๒ คน วิธีดำเนินการอบรม คือการบรรยายและแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจาก สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข/สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด/โรงพยาบาลร้อยเอ็ด/สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด เขต ๓ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๖ จังหวัดขอนแก่น

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในการป้องกันเด็กจมน้ำ ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันดำเนินการในมาตรการต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยง ที่จะก่อให้เกิดการจมน้ำ คือ ปัจจัยเสี่ยงทางด้านตัวบุคคล และทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะการใช้มาตรการใดเพียงมาตรการหนึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กจมน้ำได้ เนื่องจากเด็กแต่ละช่วงกลุ่มอายุจะมีมาตรการป้องกันที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะชุมชน/ท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการป้องกันเด็กจมน้ำ เนื่องจาก แหล่งน้ำที่เกิดการจมน้ำมากกว่าครึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ในชุมชน ดังนั้น ถ้าทุกคนในชุมชน ท้องถิ่น ร่วมมือกัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาเด็กจมน้ำลงได้.
/////////////////////////////////////////



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๔ เมษายน ๒๕๕๘



พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (192.168.11.*)  24/04/2015 06:33 AM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later