[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


สุขภาพดี ไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง
     
 

สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด พัฒนาตำบลต้นแบบ ลดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี

เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องไพฑูรย์ โรงแรมเพชรรัชต์ การ์เด้น ร้อยเอ็ด นายแพทย์บุญมี โพธิ์สนาม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาตำบลต้นแบบ ในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะที่ ๑ ประจำปี ๒๕๕๘ และมอบนโยบายการดำเนินงานเพื่อลดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี ๒๕๕๘ แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๑๑๖ คน ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในระดับอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ ผู้รับผิดชอบพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในระดับตำบล ครูอนามัยโรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๖ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาตำบลต้นแบบ ในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะที่ ๑ ประจำปี ๒๕๕๘ขึ้น เป็นระยะเวลา ๒ วัน ระหว่างวันที่ ๒ – ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ สืบเนื่องจากปัจจุบัน อุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย พบว่า ในเพศชายมีอัตราการเกิดโรคด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี มากเป็นอันดับ ๑ (๔๐.๓ประชากรแสนคน) ส่วนเพศหญิงพบว่ามีอัตราการเกิดโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีเป็นอันดับ ๓ (๑๖.๖ ต่อประชากรแสนคน) จำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีจำนวน ๑๔,๔๖๙ คน คิดเป็นอัตรา ๒๒.๕ ต่อแสนประชากร (วันละ ๓๖ ราย) เป็นเพศชาย ๑๐,๓๘๐ คน เพศหญิง ๔,๐๘๙ คน ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ คน ประชาชนเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ จากการกินอาหารประเภทปลาน้ำจืดเกล็ดขาว(ตระกูลปลาตะเพียน) เมนูปรุงดิบหรือสุกๆดิบๆ หรือที่มีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับปนเปื้อน ซึ่งกลุ่มที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งท่อน้ำดีและมีโอกาสเสียชีวิตได้ ขณะนี้ประชาชนในประเทศไทยที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับมีประมาณ ๖ ล้านคน และประชาชนกลุ่มนี้จะพัฒนาเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในระยะเวลาประมาณ ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้า

จากการสำรวจความชุกโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี ๒๕๕๗ ของจังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า อัตราความชุกในภาพรวมของจังหวัดร้อยเอ็ด เท่ากับ ๑๔.๖๐ % ในบางพื้นที่มีอัตราการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ ๖๕ กลุ่มอายุที่พบการติดเชื้อสูงที่สุดอยู่ที่อายุ ๔๐-๖๐ ปี การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม การทำความเข้าใจต่อวิถีชีวิต รวมถึงกระบวนการผลิต การเตรียม การปรุง เครือข่ายผู้ประกอบการ และผู้ขายในท้องถิ่น ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงและลดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับรายใหม่ จึงมีความสำคัญมาก ดังนั้น เครือข่าย Health และเครือข่าย Non-Health จึงได้ร่วมมือ และบูรณการทรัพยากร งบประมาณ กำลังคน ในการแก้ไขปัญหาปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาตำบลต้นแบบ ในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๖ จังหวัดขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด.
/////////////////////////////////////////////////////////////////////



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘



พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (192.168.11.*)  2/02/2015 01:05 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later