[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


สา’สุขร้อยเอ็ด ห่วงใยสุขภาพ ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง...ปลายฝน ต้นหนาว
     
 

สา’สุข ร้อยเอ็ด ห่วงใยสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง...ปลายฝน ต้นหนาว

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวีดร้อยเอ็ด เผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน และทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย โรคที่มาพร้อมกับช่วงเวลานี้ ได้แก่ โดยเฉพาะ ๒ โรค ที่ป่วยมากที่สุด ได้แก่ โรคปอดบวมและไข้หวัดใหญ่

สาเหตุและอาการ

ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจนถึงฤดูหนาว อากาศจะชื้น ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เชื้อโรคต่างๆ มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น โดยเฉพาะ ๒ โรค ได้แก่

๑. โรคปอดบวม เป็นโรคที่เด็กเล็กเป็นกันมาก ที่สำคัญพบว่าโรคปอดบวมเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญของเด็กที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้นหลายเท่า จนอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ โดยทั่วไปโรคปอดบวมส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง (โรคไอพีดี) โดยที่เชื้อนิวโมคอคคัสหรือสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี นอกจากจะก่อให้เกิดโรคปอดบวมชนิดรุนแรงหรือปอดอักเสบแล้ว ยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ทำให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และหูอักเสบ เป็นต้น ซึ่งหากเกิดกับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ หรือในเด็กเล็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องก็จะมีอาการรุนแรง

๒.โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย เชื้อเข้าสู้ร่างกายทางจมูก ปากและตา เชื้ออยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอ จาม นอกจากนี้ เชื้อยังอาจติดอยู่กับภาชนะ ของใช้ หรือพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โรคนี้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในสถานที่ที่มีคนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก อาการแสดงออก คือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นด้วย และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ถ้าพักผ่อนเพียงพอ และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยจะหายจากโรคได้ในเวลา ๕-๗ วัน บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน โรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคตับ โรคไต เบาหวาน ฯลฯ รวมทั้งเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

การป้องกัน และรักษา

๑.หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของรวมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรให้ปิดปากด้วยหน้ากากอนามัย เวลาไอหรือจาม
๒.ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
๓.ขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
๔.หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายอยู่สม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น และไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น
๕.เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัด ควรนอนพักมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้ และผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือถ้าอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก มีไข้นานเกิน ๒ วัน ควรไปพบแพทย์ทันที
๖.หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรไปพบแพทย์ทันที เช่นกัน.
///////////////////////////////////////////////////////////////////



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรอยเอ็ด
๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗



พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (110.77.237.*)  13/10/2014 11:10 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later