สาธารณสุขร้อยเอ็ด แจ้งเตือนการระบาดของโรคตาแดง ปี ๒๕๕๗ พบการระบาดสูงสุดในรอบ ๑๐ ปี
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคเฝ้าระวัง ปี ๒๕๕๗ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗ โรคที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด ๕ อันดับแรกของจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ต้นปี คือ โรคอุจจาระร่วง รองลงมาคือตาแดง อาหารเป็นพิษ ไข้ไม่ทราบสาเหตุ และปอดบวม ส่วนโรคที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด ๕ อันดับแรกของเดือนกันยายน ๒๕๕๗ คือ โรคตาแดง รองลงมาคือ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ไข้ไม่ทราบสาเหตุ และปอดบวม
จากการติดตามสถานการณ์ โรคตาแดงของจังหวัดร้อยเอ็ด ปี ๒๕๕๗ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึง วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗ มีรายงานผู้ป่วยโรคตาแดง จํานวน ๑๑,๗๗๖ ราย อัตราป่วย ๘๙๙.๙๑ ต่อประชากรแสนคน ในปี ๒๕๕๗ พบการระบาดสูงสุดในรอบ ๑๐ ปี โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมและกันยายน มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้นเดือนสิงหาคม ๕๕๖๖ ราย ,เดือนกันยายน ๔,๖๑๙ ราย พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนทั้งในโรงเรียน ในเรือนจํา และในชุมชน ในพื้นที่ทุกอําเภอ กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มเด็ก ๕-๙ ปี (อัตราป่วย ๒,๘๗๘.๓๗ ต่อประชากรแสนคน) รองลงมา คือ ๐-๔ ปี และ ๑๐-๑๔ ปี อัตราป่วย ๒,๐๖๕.๒๗ และ ๑,๙๐๓.๙๐ ต่อประชากรแสนคน จากการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่า เชื้อที่เป็นสาเหตุการระบาดครั้งนี้ คือ ค็อกซากี่ เอ ๒๔ (Coxsackiee A24)
โรคตาแดงจะพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มเด็กอายุ ๕-๑๔ ปี และกลุ่มวัยทํางาน อายุ ๒๕-๔๔ ปี การระบาดของโรคตาแดง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันได้ง่ายจากคนสู่คน โดยการสัมผัสเชื้อที่ออกมากับน้ำตาหรือขี้ตา แนวทางการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคตาแดง ดังนั้น เมื่อมีผู้ป่วยต้องปฏิบัติ ดังนี้
๑.แยกจากคนที่อยู่ร่วมกัน โดยให้หยุดเรียนหรือหยุดงานทันที จนกว่าอาการตาแดงจะหายเป็นปกติ ประมาณ ๑-๒สัปดาห์
๒.หากพบว่ามีการระบาดในโรงเรียน ต้องปิดเรียนชั่วคราว
๓.เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องออกดำเนินการเน้นให้สุขศึกษาในเรื่องสุขวิทยาส่วนบุคคล เช่น การล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้มือขยี้ตา หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันอย่างแออัด อย่าล้างมือในอ่างน้ำที่ขังไว้และผู้อื่นต้องมาใช้ร่วมด้วย ไม่ควรใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือในห้องน้ำ ผ้าห่ม ปลอกหมอน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
๔.หากมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล และเยื่อบุตาเป็นสีแดง ปวดตา ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
๕.หากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนหรือโรงเรียน ขอให้แจ้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ระดับตำบล และระดับอำเภอ ออกดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคทันที.
//////////////////////////////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๙ กันยายน ๒๕๕๗
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ |