[ หน้าหลัก ] | [ หน้าข่าวประชาสัมพันธ์ ] | [ ตั้งข่าวประชาสัมพันธ์ ]  

 

 
       

 


สา'สุขร้อยเอ็ด แจ้งเตือนการระบาดของโรคตาแดง
     
 

นายแพทย์บุญมี โพธิ์สนาม รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคตาแดง ปี ๒๕๕๗ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาค ๒๕๕๗ มีรายงานผู้ป่วยโรคตาแดง จำนวน ๑,๕๕๘ ราย อัตราป่วย ๑๑๙.๐๖ ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วยเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ มากกว่าปี ๒๕๕๖ โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ ประมาณ ๒ เท่า และในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ พบการระบาดเป็นกลุ่มในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่อำเภอธวัชบุรี

โรคตาแดง จะพบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม กลุ่มเสี่ยง คือ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง ๕ - ๑๔ ปี และกลุ่มวัยทำงานอายุ ๒๕ – ๔๔ ปี การระบาดของโรคตาแดง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่สำคัญ ได้แก่

๑. Coxsackievirus A๒๔ ทำให้เกิด Acute Hemorrhagic Conjunctivitis หนังตาและตาขาวจะแดง ปวดตา ตาบวม อาจเป็นตาเดียวหรือสองข้างก็ได้ และมีจุดเลือดออกที่เปลือกตาด้านใน อาการเป็นรวดเร็ว ระยะฟักตัวสั้นประมาณ ๑๒ ชั่วโมงถึง ๓ วัน อาการเป็นอยู่ประมาณ ๔-๖ วัน

๒. Enterovirus ๗๐ ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Pharyngoconjunctival Fever อาการทางตาคล้ายตาแดงจาก Coxsackievirus แต่จะเป็นนานประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์ และอาจมีการติดเชื้อทางเดินหายใจคล้ายหวัดและมีไข้ร่วมด้วย ระยะฟักตัวประมาณ ๗ วัน

๓. Adenovirus ทำให้เกิด Keratoconjunctivitis มีอาการเยื่อบุหนังตาและตาขาวแดง ตาบวม ปวดกระบอกตา หรือปวดหน้ากกหู เป็นนานประมาณ ๑ สัปดาห์ ระยะฟักตัวประมาณ ๗ วัน

โรคตาแดง เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากคนสู่คน โดยการสัมผัสเชื้อที่ออกมากับน้ำตาหรือขี้ตา

แนวทางการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคตาแดง ดังนี้
๑. เมื่อมีผู้ป่วยต้องแยกจากคนที่อยู่ร่วมกัน โดยให้หยุดเรียนหรือหยุดงานทันที จนกว่าอาการตาแดงจะหายเป็นปกติ ประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์
๒. หากพบว่ามีการระบาดในโรงเรียน ให้ประสานกับทางโรงเรียนเพื่อปิดเรียนชั่วครา
๓. เน้นให้สุขศึกษาในเรื่องสุขวิทยาส่วนบุคคล เช่น การล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้มือขยี้ตา หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันอย่างแออัด อย่าล้างมือในอ่างน้ำที่ขังไว้และผู้อื่นต้องมาใช้ร่วมด้วย ไม่ควรใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือในห้องน้ำ ผ้าห่ม ปลอกหมอน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
๔. น้ำที่ใช้อาบ/ล้างหน้า ต้องมีระดับคลอรีนเพียงพอ รวมถึงสระว่ายน้ำ
๕. หากมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล และเยื่อบุตาเป็นสีแดง ปวดตา ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ๖. หากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนหรือโรงเรียน ขอให้แจ้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ระดับตำบล และระดับอำเภอ ออกดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคทันที.
///////////////////////////////////////////////



สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๔ สิงหาคม ๒๕๕๗



พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์

 
     
      By : ประชาสัมพันธ์  Mail to ประชาสัมพันธ์    (110.77.237.*)  4/08/2014 10:38 PM  
 
 

 
กำหนดหัวหน้ากลุ่มงาน/งาน ...สสจ.ร้อยเอ็ด
 
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์คอมพิวเตอร์ โทร. 0-4351-1754 ต่อ 123
The best view at 800x600 pixel 16 bit or better, support with IE 5.0 or later