การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในชุมชน อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี ๒๕๕๗ ภายใต้ยุทธศาสตร์ DHS (District Health System) ครั้งที่ ๑
วันนี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลปาฝา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด นายวิวัฒน์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอจังหาร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในชุมชน อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี ๒๕๕๗ ภายใต้ยุทธศาสตร์DHS (District Health System) ครั้งที่ ๑ มีนายสำรวม จำปาขันธ์ สาธารณสุขอำเภอจังหาร เป็นผู้กล่าวรายงาน
โรคไข้เลือดออก นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะอำเภอจังหาร เป็นอำเภอที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกทุกปี มีทั้งพื้นที่ตำบลที่มีการระบาดอย่างรุนแรงและพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด สำหรับในพื้นที่ตำบลที่มีการระบาดนั้น กว่าจะมีการควบคุมโรคได้สำเร็จก็เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ประชาชนขาดความตระหนักในการป้องกันโรคไข้เลือดออก การดำเนินการป้องกันโรคล่วงหน้าที่ยังไม่เข้มข้นต่อเนื่อง ขาดความเชื่อมโยง ประสาน สอดคล้องกันระหว่างภาคีเครือข่าย ดังนั้น เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอจังหาร จึงได้จัดทำโครงการ การจัดการความรู้พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในชุมชน อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ปี ๒๕๕๗ขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำรูปแบบกระบวนการศึกษาเรียนรู้ของชุมชนเกี่ยวกับ การเฝ้าระวังและควบคุมโรคไข้เลือดออก สามารถกระตุ้นให้ชุมชนเกิดการ ร่วมคิด ร่วมทำ รวมทั้งการดึงขุมความรู้ ภูมิปัญญามาสู่การปฏิบัติ ให้เกิด ชุมชน ตำบล อำเภอเข้มแข็ง
ทั้งนี้ การจัดกระบวนการจัดการความรู้ การควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชน แบ่งออกเป็น ๓ ครั้ง ได้แก่
ครั้งที่ ๑ ขั้นตอนการ เรียนรู้ เข้าใจสถานการณ์ ความรู้ ทักษะ แนวทางการปฏิบัติที่ดำเนินการที่ ผ่านมา นำไปสู่การกำหนด เป้าหมาย ข้อตกลง วิสัยทัศน์ร่วม( Knowledge Vison ) ในรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้บริบทเป็นฐาน (Context Based Learning) หรือ CBL โดยใช้พื้นที่ ที่มีการระบาดของไข้เลือดออกสูงที่สุดของอำเภอจังหาร ในปีที่ผ่านมา คือ ตำบลปาฝา เป็นฐานการเรียนรู้
ครั้งที่ ๒ ขั้นตอนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Know shairing, Shair and learn ) เรื่อง การควบคุมโรคในชุมชน ของอำเภอจังหาร โดยใช้พื้นที่ ที่มีการระบาดของไข้เลือดออกต่ำที่สุดของอำเภอจังหาร ในปีที่ผ่านมา คือ ตำบลผักแว่น เป็นฐานการเรียนรู้เพื่อเรียนรู้การดำเนินงานควบคุมโรคที่ประสบความสำเร็จ (Best practice) และแต่ละพื้นที่ได้นำรูปแบบ แนวทาง กิจกรรม โครงการ ความรู้ วิธีปฏิบัติ ความก้าวหน้า ความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินงานในพื้นที่ของตนเอง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกตำบล
ครั้งที่ ๓ ขั้นตอนการ สังเคราะห์องค์ความรู้เป็นคลังความรู้ เรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชน อำเภอจังหาร (Knowledge Assets) แต่ละพื้นที่ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน รูปแบบ แนวทาง กิจกรรม โครงการ ความรู้ วิธีปฏิบัติ ที่ประสบผลสำเร็จ เป็นชุดองค์ความรู้และวิธีปฏิบัติร่วมกัน ที่มีการออกแบบโครงสร้างในการดำเนินงานแต่ละเนื้อหา การปรับปรุง ปรับแต่งเนื้อหาให้ทันสมัยเหมาะสมกับการนำมาใช้ในพื้นที่ การนำเทคโนโลยี/ภูมิปัญญา มาผนวกใช้ในการดำเนินงาน จัดทำเป็นคู่มือพร้อมใช้หรือถ่ายทอด
ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน ๘๐ คน ประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรค จากหน่วยงานวิชาการระดับจังหวัด เขต จำนวน ๓ คน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอำเภอจังหาร จำนวน ๘ คน ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอำเภอจังหาร จำนวน ๘ คน ผู้บริหาร หน่วยงาน สถานบริการสาธารณสุข ในอำเภอจังหาร จำนวน ๑๒ คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้รับผิดชอบงานควบคุมโรค หน่วยงาน สถานบริการสาธารณสุขในอำเภอจังหาร จำนวน ๑๓ คน ผู้นำท้องที่ ในอำเภอจังหาร จำนวน ๘ คน ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำสถานบริการสาธารณสุข จำนวน ๑๑ คน ประธานเครือข่าย กลุ่มสถานศึกษา ในอำเภอจังหาร จำนวน ๕ คน แพทย์ประจำตำบล จำนวน ๘ คน
งบประมาณ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ยุทธศาสตร์ DHS (District Health System).
////////////////////////////////////////////////////////////////////
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๗
พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว
สุขสันต์ อินทรวิเชียร /หัวหน้าฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์
|